Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

เด็กเล็กกับการดูทีวี

          เด็กเล็กกับการดูทีวี  


        เด็กเล็กดูทีวีไม่เกิน 2 ชั่วโมง ช่วยเพิ่ม IQ กับ EQ





ทีวีก็ใช่ว่ามีแต่ของไม่ดี หากอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเมื่อเร็วๆ






นี้ศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ เปิดเผยจากผลงานวิจัยเรื่องการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา สังคม และอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี







พบว่าการให้เด็กเล็กดูทีวีไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงมิให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือภาวะด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น


โดยในปัจจุบัน ระดับไอคิวของเด็กไทยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ หากดูรายการที่ให้สาระความรู้ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวดีขึ้น 23% ละมีระดับอีคิวดีขึ้น 37% นอกจากนี้ ยังพบว่าการเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทาง บวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้องและเสริมประสบการณ์
จะช่วยพัฒนาสมรรถนะทั้งสองด้านได้เช่นกัน












ที่มา : นิตยสาร Lisa

วิจัย-เด็กเล็กดูทีวีช่วยเพิ่มไอคิวอีคิว เสนอรัฐเพิ่มเวลารายการเด็ก ทั้งยังช่วยให้มีพัฒนาการ




แพทย์ไทยวิจัยพบ เด็กเล็กดูโทรทัศน์วันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิว อีคิว เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็ก


ไทยโพสต์ * แพทย์ชี้เด็กเล็กดูทีวีวันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิวและอีคิวมากกว่าเด็กที่ไม่ดูโทรทัศน์ เน้นรายการให้สาระความรู้ เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็กมากขึ้น แต่ผู้ปกครองต้องควบคุมไม่ให้เด็กดูเกินวันละ 2 ชั่วโมง
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี โดยฝ่ายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ ผลวิจัยพบว่า การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และลดความเสี่ยงต่อภาวะด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ ในขณะเดียวกันจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาทางด้านสุขภาวะของประชาชน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิจัยไทยพยายามค้นหาเหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด เด็กจะเริ่มหัดฟัง เรียนรู้ที่จะพูดและต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา ในขณะที่ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแนะนำไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนถึงผลเสียข้อนี้ อีกทั้งงานวิจัยต่างประเทศไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเด็กไทยได้ เพราะมีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างภาษา ค่านิยม แบบแผนการเลี้ยงดูและรายการโทรทัศน์ ทำให้ผลการศึกษามีความแตกต่างกัน

การทำงานวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 10 ปี เป็นการร่วมมือกันของนักวิจัยหลายสถาบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2543-2553 เป็นโครงการระยะยาวที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเด็กและครอบครัวที่อาศัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ จ.น่าน 760 คน, อ.กระนวน จ.ขอนแก่น 852 คน, อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 774 คน, อ.เทพา จ.สงขลา 1,061 คน และกรุงเทพฯ บริเวณพื้นที่รอบโรงพยาบาลรามาธิบดี 710 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 4,157 คน แบ่งเป็นชาย 2,074 และหญิง 2,083 คน
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูหลักเมื่อเด็กแต่ละคนมีอายุ 1 ปี, 2 ปี, 2.5 ปี และ 3 ปี สำรวจระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ต่อวัน รายการที่เด็กดูประจำและประเมินพัฒนาการทางภาษา โดยใช้คำถามจากแบบคัดกรองพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี แบบประเมินการพูดและภาษาของเด็กไทยที่อายุ 2.5-3 ปี ส่วนสมรรถนะด้านสังคมและอารมณ์ วัดสองครั้งโดยใช้เครื่องมือวัดพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม จริยธรรม เมื่ออายุ 1 ปี และ 3 ปี


"ผลการวิเคราะห์พบว่า การดูโทรทัศน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าได้ร้อยละ 21-31 และลดความเสี่ยงของการด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ถึงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์" นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเผย
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์จะมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ล่าช้ากว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยถ้าหากดูรายการที่ให้สาระความรู้ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวดีขึ้น 23% และมีระดับความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวเพิ่มขึ้น 37% เช่น สามารถรับฟังกติกาพ่อแม่ดีขึ้น แต่การดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 2 ชั่วโมงไม่ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า การเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทางบวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้อง และการเสริมประสบการณ์นอกบ้าน ช่วยพัฒนาสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ดีอีกด้วย


ด้าน ผศ.พญ.อัจฉรีย์ อินทุโสมา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ต่างกับคำแนะนำของผู้เชี่ยว ชาญต่างประเทศที่ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ เนื่องจากงานวิจัยในวิทยานิพนธ์นี้มีขนาดตัวอย่างจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วประเทศ ติดตามเด็กอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและต่อเนื่องระยะยาว ใช้สถิติในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ทำให้ผลวิจัยมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามผลระยะยาวในเด็กกลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า ปัจจุบันเด็กทารกและวัยเตาะแตะดูโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้ดูมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลและสถานีโทรทัศน์จะต้องเพิ่มรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กเล็ก และยังควรจำกัดการดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง

ผศ.พญ.อัจฉรีย์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลเด็กดูรายการโทรทัศน์แบ่งเป็น 7 ประเภทคือ การ์ตูน สารคดี รายการเด็ก ข่าว โฆษณา กีฬาและรายการเพื่อความบันเทิง โดยรายการโทรทัศน์ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวและอีคิวได้ดีที่สุดคือ รายการเด็กที่ให้ความรู้ เช่น เจ้าขุนทอง หนูดีมีเรื่องเล่า และสารคดีชีวิตสัตว์โลก ส่วนการ์ตูนและรายการประเภทอื่นๆ ไม่มีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดูโทรทัศน์จะเพิ่มขึ้นตามวัยคือ เด็กอายุ 1 ปีดูวันละ 10 นาที, อายุ 2 ปีดูวันละ 40 นาที และอายุ 3 ปีดูวันละ 1 ชั่วโมง โดยเด็กเล็ก 11-15% ที่ดูรายการให้ความรู้และมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ดูรายการประเภทอื่น.








ที่มา : ไทยโพสต์




ดนตรี เพื่อลูกน้อย

                    ดนตรี เพื่อลูกน้อย







ดนตรี เพื่อลูกน้อย




นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 ทารกในครรภ์เริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสทางด้านการฟัง เมื่อคลอดออกมาแล้วพัฒนาการด้านการฟังของลูกยังคงดำเนินต่อไป คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เสียงเพลงและเสียงดนตรี ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้ก้าวหน้าได้ค่ะ

ฉบับนี้ รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธิจิตต์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีสำหรับเด็ก ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเพลงสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรกดังนี้ค่ะ




ดนตรีสำหรับทารก

ดนตรีและเสียงเพลง มีประโยชน์มหาศาลสำหรับพัฒนาการของลูกน้อย จากการวิจัยเสียงเพลงที่เหมาะสำหรับทารก คือ ดนตรีและเสียงที่มีระเบียบแบบแผน หมายถึง การใช้ท่วงทำนองจังหวะ เมโลดี้ ที่เป็นระเบียบ ฟังสบาย เช่น เพลงคลาสสิก โมสาร์ท เสียงดนตรีเป็นคลื่นเสียงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลกับสมองและอารมณ์โดยตรงของทารก ดังนั้นการเลือกดนตรีหรือเพลงที่มีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ จะส่งผลให้คลื่นสมองทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบช่วยสร้างสมาธิ ส่งผลต่อการพัฒนาคลื่นสมอง และระบบการคิดที่ดี ตรงกันข้ามเสียงเพลงที่มีลักษณะท่วงทำนองรุนแรง ไม่เป็นจังหวะ หรือเสียงเพลงที่มีเสียงร้องสูงต่ำ หรือตะโกนโหวกเหวกจะเป็นคลื่นเสียงที่ไม่เป็นระเบียบ





เพลงคลาสสิก ดีต่อทารก


การกระตุ้นโดยดนตรี และเสียงเพลงที่มีระเบียบแบบแผน อย่างเพลงคลาสสิกของโมสาร์ท มีผลให้สมองและการฟังของทารกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเพลงคลาสสิก คือ เสียงเพลงผ่านการแต่งทำนอง และเมโลดี้อย่างพิถีพิถันและมีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ สร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสุขสงบ ส่งผลให้ทารกเกิดความพึงพอใจและพัฒนาความสามารถในการรับฟังของทารก




งานวิจัยเสียงดนตรีคลาสสิก


งานวิจัยเกี่ยวกับ การฟังเพลงของโมสาร์ท โดยคุณหมอที่ศูนย์การแพทย์ Tel Aviv ในอิสราเอล เปิดให้เด็กทารก 20 คน ที่คลอดก่อนกำหนดและอยู่ในการดูแลของแพทย์ฟังวันละครั้ง ครั้งละ 30 นาที พบว่าหลังจากฟังดนตรีแล้ว เด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนดกลุ่มนั้น จะสงบลงและใช้พลังงานน้อยลงกว่าเด็กทารกกลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรี นักวิจัยบอกว่า เมื่อเด็กทารกใช้พลังงานน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แคลอรี่ จำนวนมากในการเจริญเติบโต เด็กที่เกิดก่อนกำหนดเหล่านั้น จึงมีน้ำหนักตัวมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว



เด็กทารกที่ได้ฟัง ดนตรีเป็นประจำ จะรู้สึกสบายและช่วยลดความเครียดลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้เด็กทารกสงบลงได้ เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านได้รับการกระตุ้นไปด้วย





ประโยชน์ของเพลงคลาสสิก



เด็กทารกที่ได้ฟัง ดนตรีเป็นประจำ จะรู้สึกสบายและช่วยลดความเครียดลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้เด็กทารกสงบลงได้ เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านได้รับการกระตุ้นไปด้วย ตัวโน้ตและจังหวะเคาะที่คล้ายกับการอ่านหนังสือแต่ละตัว ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายที่เกี่ยวกับเหตุผลและภาษา เสียงเพลงจังหวะสนุกๆ ที่ฟังแล้วชวนให้ขยับตัวไปมา แล้วการที่หนูน้อยโยกตัวไปมาตาม หรือเต้นตามจังหวะตามเพลงนั้นๆ ก็เป็นการออกกำลังกายอย่างดีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อของเจ้าหนูแข็งแรง






หลังการเลือกเพลง สำหรับลูกน้อยวัยขวบปีแรก


เสียงดนตรีที่ลูกน้อยควรได้รับฟังนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับพัฒนาการด้านการฟังในแต่ละช่วงวัยดังนี้




1-3 เดือน


เลือกเพลงสบาย ๆ ช้า ๆ จังหวะคงที่ ซึ่งควรเป็นเสียงดนตรี บรรเลงที่มีความนุ่มนวล อ่อนโยน จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ



4-6 เดือน


เลือกเสียงเพลง ทุ้ม ๆ นุ่มนวล ในช่วงวัยนี้ลูกสามารถเรียนรู้จังหวะได้มากขึ้น ตอบสนองต่อจังหวะและทำนอง เมื่อได้ยินจังหวะที่ชื่นชอบจะแสดงความพึงพอใจ เช่น ผงกศีรษะ หรือโน้มตัวลงตอบสนองต่อเสียงดนตรี



7-9 เดือน


เลือกเพลงที่มี จังหวะสนุกสนานสลับกับเพลงสบาย ๆ ช้า ๆ ที่เปิดในช่วงแรก เพราะช่วงนี้ลูกจะมีพัฒนาการทางร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น เริ่มส่ายหัวขยับแขนและมือตามจังหวะเพลง เริ่มจำทำนองเพลงได้ ซึ่งต้องสังเกตอารมณ์และความต้องการของลูกด้วย



10-12 เดือน


เลือกเพลงที่เป็น คำคล้องจองที่มีเนื้อร้องสั้น ๆ ง่าย ๆ ในวัยนี้ลูกมีพัฒนาการทางภาษามากขึ้น และเริ่มออกเสียงเป็นพยางค์ได้บ้างแล้ว ลูกจะพยายามส่งเสียงเลียนแบบเสียงที่ได้ยินและแสดงท่าทางต่าง ๆ ตามเพลงได้มากขึ้น



ข้อควรระวัง ในการเปิดเพลงให้ลูกฟัง




หลีกเลี่ยงการเปิดเพลงที่เสียงดังเกินไป เพราะประสาทการรับเสียงของลูกจะถูกทำลาย

ทารกในช่วงวัน 1-3 เดือนนั้น ยังไม่ควรเปิดเพลงที่มีเสียงร้อง เพราะเสียงร้องอาจรบกวนสมาธิและการนอน







Music tip



สำหรับ คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ถนัดฟังเพลงคลาสสิก สามารถเลือกใช้เพลงที่มีจังหวะและทำนองเบา ๆ ฟังสบาย ๆ ได้ เช่น เพลงพื้นบ้าน ไทยเดิม หรือเพลงสากล เพลงกล่อมเด็กก็ล้วนมีประโยชน์ ดังนั้นควรให้ลูกน้อยได้รับฟังดนตรีหลากหลายประเภท แล้วสังเกตว่าลูกชอบฟังดนตรีแบบไหนมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจร้องเพลงนั้นให้ฟังบ่อย ๆ หรือจะเปลี่ยนเนื้อเพลงไปบ้างเพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใหม่อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกมีเสียงดนตรีในหัวใจอีกด้วย














ที่มา : Mother & Care


วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคดิสเล็กเซีย Dyslexia คืออะไร

    โรคดิสเล็กเซีย Dyslexia คืออะไร



 
ดิสเล็กเซียคือโรคที่มีความบกพร่องทางทักษะและบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ การอ่านและทักษะการคำนวณ อย่างไรก็ตามเด็กที่เป็นโรคนี้อาจเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพียงแต่ต้องการการดูแลเอาใจใส่หรือกระบวนการการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ บ่อยครั้งอาจนำไปสู่ความล่าช้าของพัฒนาการทำให้ส่งผลกระทบต่อเรื่องการเรียนของเด็ก เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน

 
โรคดิสเล็กเซีย เป็นโรคความบกพร่องที่ค่อนข้างซับซ้อน สืบเนื่องมาจากมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องกันและแพทย์ยังคงหาสาเหตุที่แท้จริงไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุใด

 
  • ภาวะบกพร่องด้านการสะกดคำ
  • ภาวะบกพร่องด้านการตีความ
  • ภาวะบกพร่องด้านการเรียงลำดับความสำคัญของคำที่อ่าน รวมถึงไม่เข้าใจเนื้อหาที่อ่าน
  • ภาวะบกพร่องด้านความจำ อ่านแล้วมักลืมสิ่งที่เคยอ่าน
  • ขาดทักษะด้านการอ่านออกเสียง อ่านไม่คล่อง ตะกุกตะกัก
  • มักสับสนด้านซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย
  • ไม่สามารถจับใจความเนื้อหาที่อ่านไปแล้วได้
  • ภาวะบกพร่องทางทักษะการคำนวณ
  • ภาวะบกพร่องด้านการแยกแยะโทนเสียงดนตรี
  • มักสับสนเวลาเขียน ลายมือไม่เป็นระเบียบ
  • ภาวะบกพร่องด้านการสื่อสารในสิ่งที่คิด ไม่สามารถอธิบายใจความสำคัญได้

 
โดยส่วนใหญ่แล้วยากที่จะพบเด็กที่มีความบกพร่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ในบุคคลเดียวกัน เนื่องจากภาวะความบกพร่องบางอย่างอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรง ชนิด ของแต่ละบุคคลเอง
จากภาวะบกพร่องดังที่กล่าวไว้ด้านบนนั้นมักเป็นความบกพร่องขั้นพื้นฐานของโรคดิสเล็กเซียซึ่งบ่อยครั้งสามารถส่งผลไปในทางที่รุนแรงกว่าเดิมได้ เช่น ทำให้เด็กที่เป็นหมดความมั่นใจในตัวเอง มีความกระวนกระวายและส่งผลให้เด็กที่เป็นโรคดิสเล็กเซียเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ
ผู้ปกครองจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคดิสเล็กเซีย
เนื่องจากธรรมชาติที่ซับซ้อนของโรค จึงมีความจำเป็นที่นักจิตวิทยาการศึกษาต้องทำการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มขึ้น เพื่อที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวภาวะบกพร่องด้านการศึกษาได้

สาเหตุของการเกิดโรคดิสเล็กเซียนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ทั้งนี้เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปในทุกช่วงอายุและเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ประมาณ 10 % ของจำนวนประชากรเป็นโรคนี้และมีจำนวน 4 % ที่อยู่ในขั้นรุนแรง



สัญญาณต่อไปนี้บ่งบอกว่าเด็กอยู่ภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคดิสเล็กเซีย

 
  • มักอ่านคำผิดพลาดหรือมีความยากลำบากในการอ่านตัวอักษร
  • ใช้เวลานานในการอ่านและหลังอ่านเสร็จไม่สามารถจับใจความสิ่งที่อ่านได้
  • สะกดคำไม่คล่อง
  • ไม่สามารถเขียนได้อย่างถูกต้องหรือมองคำที่คุณครูเขียนบนกระดานแล้วไม่สามารถเขียนตามตัวอย่างได้
  • สามารถทำงานบางอย่างได้ดีแต่ในขณะเดียวกันไม่สามารถทำอีกอย่างหนึ่งได้
  • ไม่สามารถเรียนรู้หรือจดจำตาราง วัน เวลา หรือแม้กระทั่งปีได้
  • มักมีปัญหาในการจดจำตัวเลขหลายหลัก มักสับสน เช่น เบอร์โทรศัพท์
  • มีปัญหาในการเรียงลำดับความสำคัญของประโยคคำสั่งรวมถึงสิ่งที่อ่านไป
  • มักสับสนด้านขวาหรือซ้าย การมองเห็นมักจะกลับด้าน และการเขียนตัวอักษรและตัวเลขมักจะกลับด้านเสมอ
  • ไม่สามารถเขียนเพื่อสื่อความหมายได้ โดยสะกดคำผิด หรือใช้สรรพนามผิด รวมถึงไม่สามารถเอาตัวอักษรใส่ตามเสียงที่ได้ยินได้ และไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำต่าง ๆ ได้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการแยกแยะโทนเสียง ไม่สามารถแยกเสียงโน้ตดนตรีได้
  • ทำตามคำสั่งผิดพลาด โดยเด็กไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกบอกให้ทำได้ จับใจความไม่ได้ เรียงลำดับความสำคัญไม่ได้
โดยส่วนใหญ่แล้วโรคดิสเล็กเซียนั้นมักมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการเมื่อเด็กที่มีอายุ 5 ขวบขึ้นไปในขณะที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคดิสเล็กเซียนั้นมักแสดงอาการตั้งแต่กำเนิด หากพ่อแม่สงสัยว่าบุตรของตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้สามารถติดต่อปรึกษาไปยังหน่วยงานหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะสามารถให้คำแนะนำและหาทางรักษาอาการของโรคของแต่ละช่วงวัยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กแต่ละคนอาจมีอาการของโรคไม่เหมือนกัน


 
การรักษา 

 

โรคนี้มีทางรักษาได้เพราะถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นความผิดปกติได้เร็ว ก็จะทำให้ช่วยเหลือเด็กได้เร็วขึ้น และสามารถมีพัฒนาการปกติตามวัยได้

พ่อแม่ควรเรียนรู้ และทำความเข้าใจว่าโรคดิสเล็กเซียคืออะไร มีลักษณะชนิดของโรคแตกต่างกันอย่างไรบ้างและอยู่ในช่วงวัยใด เพื่อจะได้สามารถดูแลบุตรได้อย่างถูกต้อง
โรคดิสเล็กเซียนั้นไม่ถือเป็นโรค ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา แต่แพทย์และพ่อแม่ควรดูแลให้บุตรอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เอาใจใส่และสอนให้เด็กรู้จักปรับตัว เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น
สถาบันทางการแพทย์ของโรคดิสเล็กเซียได้ทำการค้นคว้าว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ดีกว่า เพราะเด็กแต่ละคนนั้นมีการบกพร่องแตกต่างกัน
สถาบันทางการแพทย์ของโรคดิสเล็กเซียได้จัดทำคู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อศึกษาและดูแลเด็กเมื่ออยู่ที่บ้านได้อย่างถูกต้องมีชื่อเรียกว่า DIY Readers Support Pack for Parents โดยสามารถติดต่อขอซื้อได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 01784 222300 หรือผ่านทางเว็บไซ ต์ http://212.42.166.15/dysinst/index.htm



คำแนะนำอื่นๆ เกี่ยวกับโรคดิสเล็กเซีย

พ่อแม่ไม่ควรแสดงอาการหงุดหงิดหรือโกรธใส่เด็ก เพราะนอกจากจะทำให้เด็กเกิดความเครียดแล้วยังอาจทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อเด็กอ่านหรือสะกดคำผิดควรแนะนำและสอนให้อ่านอย่างถูกต้องและค่อยเป็นค่อยไป บ่อยครั้งเด็กอาจอ่านคำศัพท์คำเดียวกันในครั้งแรกถูกต้องแต่ครั้งหลังอาจอ่านไม่ได้หรือแสดงอาการท้อแท้ ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องมีความใจเย็นค่อยเป็นค่อยไป
การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการสะกดคำหรือการอ่านมากจนเกินไปจนทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านอื่นๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นอาจมีอยู่ บ่อยครั้งเด็กที่เป็นโรคดิสเล็กเซียนั้นมักเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ เป็นตัวของตัวเองสูง มักมีความคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์ มักมีแนวโน้มที่จะบุกเบิกรังสรรค์แนวคิดแปลกใหม่ (Lateral Thinking) เพื่อสร้างแนวทางใหม่ๆ สู่ความสำเร็จ ดังนั้นพ่อแม่จึงมีความสำคัญมากที่จะต้องดูแลเอาใจใส่และคอยเป็นกำลังใจแก่พวกเขา
บ่อยครั้งที่พ่อแม่บางคนแสดงอาการวิตกกังวลจนเกินไปเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ หรือการมีพัฒนาการที่ช้าของเด็กจนบางครั้งอาจมองข้ามสิ่งสำคัญไป หรืออาจคิดว่าเด็กไม่น่าจะเป็นโรคนี้ได้ จงอย่ามองข้ามสัญญาณสำคัญแม้เพียงเล็กน้อย หากเด็กมีแนวโน้มว่าเป็นเด็กฉลาดมีพรสวรรค์แต่กลับมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีเพื่อทำการทดสอบแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะรักษาได้อย่างทันท่วงที
พ่อแม่บางคนไม่อยากยอมรับว่าบุตรของตัวเองเป็นเด็กที่มีความบกพร่องหรือผิดปกติเพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย โรคดิสเล็กเซียนั้นไม่ใช่โรคอย่างแท้จริง เพราะความจริงแล้วดิสเล็กเซียนั้นเป็นเพียงคำนิยามจำกัดความของอาการที่มีความบกพร่องทางทักษะเท่านั้นและเด็กสามารถมีอาการดีขึ้นได้
พ่อแม่หลายคนมักโทษตัวเองและแสดงความผิดหวังหรือเสียใจที่บุตรของตัวเองมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บ่อยครั้งมักโทษตัวเองที่ไม่สามารถดูแลบุตรได้ดีพอหรือขาดคุณสมบัติของการเป็นพ่อแม่ที่ดี ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นความผิดของพ่อแม่ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเด็กคนไหนอาจมีโอกาสเป็น แต่เป็นโรคที่มีทางที่จะทำให้อาการทุเลาลงได้และเด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ








โรค Dyslexia





baby

หนูน้อย Dyslexia  (รักลูก)
  โดย: เมธาวี



อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่เข้าใจการเรียน ลูกอาจเป็น Dyslexia



Dyslexia หรือที่บางคนรู้จักในชื่อสั้น ๆ ว่า LD คือโรคที่มีความบกพร่องทางทักษะการเรียนรู้ ซึ่งมีสถิติพบการเป็นโรคประมาณ 5% ของเด็กไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน


1. ความบกพร่องทางทักษะการอ่าน (Reading Disorder) คือการที่เด็กอ่านได้น้อยกว่าปกติ และมีความยากลำบากในการอ่านตัวอักษร รวมทั้งสะกดคำไม่คล่อง อ่านตะกุกตะกัก อ่านช้า หรือบางคนอ่านได้คล่อง แต่เมื่ออ่านเสร็จกลับจับใจความสิ่งที่อ่านไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร หรือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอ่านอะไรอยู่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเรื่องการเรียนของเด็ก เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน ทำข้อสอบไม่ได้ ต้องเรียนซ้ำชั้น เป็นต้น โดยพบว่าเด็กมีความบกพร่องทางด้านนี้มากที่สุด


2. ความบกพร่องทางทักษะการเขียน การสะกดคำ การสร้างคำ หรือการสร้างประโยค (Spelling หรือ Written expression disorder) คือการที่เด็กไม่สามารถเขียนเพื่อสื่อความหมายได้ โดยสะกดคำผิด หรือใช้สรรพนามผิด ทำให้เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง เช่น เด็กต้องการจะเขียนเรียงความ แต่ไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างประโยคว่าต้องมีประธาน กริยา กรรม ส่งผลให้อ่านไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจความหมายที่เด็กเขียนขึ้นมา


3. ความบกพร่องทางทักษะการคำนวณ (Mathematics หรือ Calculation disorder) คือเด็กกลุ่มนี้จะขาดทักษะด้านการคำนวณ ไม่เข้าใจกระบวนการของการบวกเลข ลบเลข เช่น การบวกคือการเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเด็กจะไม่เข้าใจว่าเพิ่มอย่างไร บวกกันแล้วได้เท่าไหร่ ส่วนเรื่องการลบ คือการหักออกไปเรื่อยๆ ซึ่งเด็กก็จะไม่เข้าใจว่าต้องหักออกอย่างไร หรือลบออกแล้วเหลือเท่าไหร่


นอกจากนี้ยังมีเด็กบางคนที่ไม่เข้าใจกระบวนการ การทดเลข รวมไปถึงการแปลโจทย์ปัญหาด้วย เช่น เมื่อให้โจทย์เลข 5+7 เท่ากับเท่าไหร่ เด็กสามารถตอบได้ว่าเท่ากับ 12 แต่ถ้าบอกว่า มีเงิน 5 บาท แม่ให้มาอีก 7 บาท รวมแล้วมีเงินเท่าไหร่ เด็กจะแปลโจทย์ไม่ออกว่าต้องทำอะไรบ้าง



สาเหตุ


สาเหตุของการเกิดโรค Dyslexia หรือ LD ยังไม่ทราบแน่ชัด รู้แต่เพียงว่าเกิดจากความผิดปกติของการทำงานที่เซลล์สมองซีกซ้าย ด้านหน้า เรียกว่า Parietal lobe ซึ่งเป็นความบกพร่องของการทำงานของระบบประสาทในเรื่องของการตีความ เรื่องของความจำระยะสั้น


นอกจากนี้มีงานวิจัยระบุว่า โรคนี้มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โดยมีโครโมโซมบางตัวที่ผิดปกติ ซึ่งโครโมโซมตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกตินี้ คือโครโมโซมตัวที่ 7 แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดค่ะ


อย่างไรก็ตามโรค Dyslexia สามารถเชื่อมโยงกับโรคทางพันธุกรรมอย่างอื่นได้ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก หรือแม้กระทั่งโรคสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งอาจจะเกิดร่วมกันและสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ด้วย


และอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ คือการใช้ชีวิตในแต่ละบ้าน ที่บรรยากาศในบ้านไม่มีการส่งเสริมให้อ่านหนังสือเลย หรือเด็กที่มีโอกาสน้อยทางการศึกษา ทำให้การกระตุ้นเซลล์สมองไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ขึ้นได้




สังเกตอาการของ Dyslexia



คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้ ตั้งแต่วัยขวบปีแรก หรือก่อนเข้าเรียนอนุบาลได้ โดยสังเกตจากการพูด หากมีปัญหาเรื่องการพูดช้าตั้งแต่เด็ก หรือมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่บกพร่อง เช่น


อายุ 1 ขวบ ยังพูดเป็นคำไม่ได้ เรียกพ่อแม่ไม่ได้


อายุ 2-3 ขวบ ยังพูดได้น้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน


อายุ 3 ขวบ ยังไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ หรือเล่าไม่รู้เรื่อง พูดติดอ่างวนไปวนมา


อายุ 5-6 ขวบ ไม่เข้าใจคำว่า ซ้าย-ขวา หรือเรียกว่า Mirroring effect คือการมองเห็นของเด็กจะกลับด้าน เช่น ใส่รองเท้าผิดข้างตลอด และยังเขียนกลับด้านตลอดด้วย เช่น ม เป็น น ถ เป็น ภ d เป็น b หรืออ่านหนังสือจากขวาไปซ้าย รวมไปถึงการเขียนตัวอักษรและตัวเลขจะกลับด้านกันหมด ต้องส่องกระจกถึงจะอ่านตามปกติได้


ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพัฒนาการช้า หรือถ้าเทียบเท่ากับเพื่อนในวัยเดียวกันแล้วยังดูว่าช้าผิดปกติ ควรพามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด เพราะบางครั้งเด็กยังไม่ได้เข้าข่ายถึงกับเป็นโรค แต่เป็นแค่ความล่าช้าของพัฒนาการ ที่อาจเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ได้กระตุ้น หรือฝึกฝนเท่าที่ควร เพราะปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรทัศน์ทั้งวัน เพราะถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติเร็ว ก็จะทำให้ช่วยเหลือเด็กได้เร็วขึ้น และสามารถมีพัฒนาการปกติตามวัยได้


โรคนี้มีทางรักษาค่ะ อยู่ที่คุณพ่อคุณม่เป็นสำคัญ ถ้ามีความเข้าใจแล้วล่ะก็ เราจะช่วยลูกให้มีอาการดีขึ้นได้แน่นอนค่ะ







 
วิธีช่วยเหลือเด็ก Dyslexia และ Dyspraxia


ที่มา : หนังสือบันทึกคุณ คอลัมน์ kids 6-9 เด็กพิเศษ หน้าที่ 154 ฉบับที่ 110 ปีที่ 9 กันยายน 2545
โดย : พริกไท
รวบรวมโดย : สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก



มีเคล็ดลับในการดูแลเด็กพิเศษกลุ่มอาการต่าง ๆ มานำเสนอ เนื้อหาก็จะเป็น How to ง่าย ๆ เกี่ยวกับการดูแล การฝึกฝนและการกระตุ้นทักษะด้านต่าง ๆ ในแต่ละอาการ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น How to ของเราเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่านี้ ก็อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์สาขาจิตเวชเด็กจะดีที่สุดค่ะ
 

กลุ่มอาการ Dyrpraxia


เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องของการแต่งตัว เช่น การใส่กระดุม การผูกเชือกรองเท้า, การหยิบของชิ้นเล็ก ๆ, มีปัญหาเรื่องทิศทาง ซ้าย/ขวา/หน้า/หลัง/บน/ล่าง, การขี่จักรยาน หรือเล่นฟุตบอล, การจับดินสอ, การต่อจิ๊กซอว์ หรือการแบ่งกลุ่มสิ่งของ หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องการพูดและภาษาด้วย
 

ช่วยเหลือได้อย่างไร?


เลือกใช้รองเท้าที่ไม่ต้องใช้เชือกผูก
ให้เด็กสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ
หลีกเลี้ยงอะไรที่ต้องผูก เช่น เนคไท เชือกรองเท้า
สำหรับกระดุมเสื้อเชิ้ตให้ใช้กระดุมเม็ดใหญ่ และรังดุมก็ต้องใหญ่ด้วยเช่นกัน
ถุงเท้า ถ้าเป็นไปได้เอาแบบสั้น ๆ เพราะว่าถุงเท้าเป็นอะไรที่จับและดึงยากสำหรับเด็กกลุ่มนี้
เลือกเสื้อที่เห็นความแตกต่างของด้านหน้าและด้านหลังอย่างชัดเจน เช่น เสื้อยืดคอวี
ควรช่วยให้เด็กฝึกทักษะเกี่ยวกับการมอง การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น นิ้วมือด้วยการจับดินสอ และเขียนหนังสือ และช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วยการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อ
พาเด็กไปหานักฝึกพูด จะช่วยให้เด็กออกเสียงดได้ง่ายขึ้น (ในกรณีที่เด็กมีปัญหาเรื่องการออกเสียงลำบาก) และให้เด็กเรียนโปรแกรมสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะสำหรับที่โรงเรียน คุณแม่ควรจะขอความช่วยเหลือจากครูในเรื่องต่อไปนี้ การชมเชยเด็กในสิ่งที่เขาทำ แต่ควรจะแน่ใจว่าไม่ทำให้เด็กคนอื่นรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและพยายามหาข้อดีจากงานของเด็กเสมอ ๆ รวมทั้งขอให้เพื่อ ๆ ชมเชยความพยายามของเขาด้วย
ควรให้เขารับผิดชอบหรือมีหน้าที่บางอย่างที่มีการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น ส่งเสริมให้เด็กทำงานเป็นทีมและมีส่วนร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งขอให้เพื่อน ๆ ช่วยดึงเด็กเข้ากลุ่มและหลีกเลี่ยงการทำให้เด็กแยกตัวออกจากกลุ่ม
สำหรับเรื่องสายตา คุณแม่และครูควรช่วยกันดูอย่างใกล้ชิด และช่วยกันประเมินผล ดูว่าเด็กเขียนตัวเลขหรือตัวหนังสือกลับด้านหรือเปล่า ซึ่งการดูแลใกล้ชนิดก็สังเกตได้ง่ายขึ้นและช่วยให้การประเมินผลแน่นอนกว่าการคาดเดา

กลุ่มอาการ Dyslexia


เด็กกลุ่มนี้มีสติปัญญาปกติ และมีหลายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก แต่พวกเขาจะมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน การเขียนและการสะกด การแปล และการคำนวณทางคณิตศาสตร์

 
ช่วยเหลือได้อย่างไร?


สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อรู้ว่าลูกมีอาการ Dyslexia ก็คือการพูดคุยกับครู เพื่อไม่ให้ครูว่าเด็กโง่ (เด็กกลุ่มนี้เจอปัญหานี้บ่อยมาก) เพราะจะทำให้เด็กมีปัญหาด้านจิตใจตามมา  การอ่าน, การเขียน, การสะกด, การคำนวณ เป็นทักษะที่ควรได้รับการฝึกฝนอย่างตั้งใจและมีเป้าหมายที่แน่นอน  อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุก ๆ วัน และให้ลูกหัดอ่านตาม  จัดเตรียมให้เด็กเขียนและอ่านสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาในชีวิตประจำวัน  การสอนคำศัพท์และความหมาย ให้อธิบายคำที่เกี่ยวข้องไปในตัวด้วย จะดีกว่าการสอนแบบเป็นคำ ๆ  ส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น
ลองหาสถานที่ที่ช่วยทำให้การอ่านมีความเพลิดเพลิน หรือผ่อนคลาย และทำให้เด็กเห็นคุณค่าและมีความจำเป็น ชมเชยเด็กมาก ๆ เมื่อเห็นพัฒนาการ หรือเมื่อมีทักษะใหม่ ๆ เกิดขึ้น
สอนเทคนิคการออกเสียงให้เด็กรู้ และสอนการสร้างคำใหม่ (คำซ้อน, คำผสม) รวมทั้งการสร้างประโยคใหม่  ควรเลือกแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์อย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของเด็ก  หัดให้เด็กได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัสหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ตาดูหูฟัง มือจด  ปรับปรุงและทบทวนว่าแบบฝึกหัดแต่ละอย่างเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ ความถี่และระยะเวลาในการสอนแต่ละเรื่องเหมาะสมหรือไม่