Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก

10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
 
 
 

มะเร็งปากมดลูก …..สถิติที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน ของผู้หญิงทั่วโลก

- โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 คนต่อปี
- สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คน/วัน
- มะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2


1. ทำไม “วัคซีนเอชพีวี” จึงสามารถป้องกันเราจากมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ เพราะไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า HPV ( Human Papillomavirus) ซึ่งติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณปากมดลูก ทำให้กลายเป็นเซลล์เนื้อร้าย หรือมะเร็ง การฉีดวัคซีน เอชพีวี จึงเป็นการป้องกันต่อการติดเชื้อเอชพีวีชนิดสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% ดังนั้นผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนเอชพีวีจึงสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ถึง 70%


2. เราจำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนรับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ? ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกานั้น หญิงสาว ที่ไป รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า “ แปปสเมียร์” ( Pap Smear Test) เป็นประจำและไม่พบผลผิดปกติใด ๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนการได้รับวัคซีน เพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัดของเครื่องมือ และสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการได้ ทำให้การตรวจหาภาวะการติดเชื้อเอชพีวีโดยระบุสายพันธุ์ เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรับฉีดวัคซีน ในกรณีที่มีผลการตรวจ “ แปปสเมียร์” ที่ผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาให้หายก่อนแล้วจึงรับการฉีดวัคซีน ได้ตามปกติ อย่างไรก็ดีหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องตรวจ “แปปสเมียร์” อย่างสม่ำเสมอ เหมือนเดิม เพราะว่าวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถ ให้การป้องกันครอบคลุมเชื้อเอชพีวีชนิดอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด


3. วัคซีนเอชพีวี สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 100 % หรือไม่ ? การค้นพบข้อเท็จจริงว่า มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากเชื้อเอชพีวี 99.7% ซึ่งเป็นไวรัสที่ ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ทำให้มีการพัฒนาการเป็นวัคซีนเอชพีวีซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดสำคัญที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70% ดังนั้น จึงยังมีเชื้อ เอชพีวีบางส่วนที่วัคซีนนี้ยังไม่สามารถให้การป้องกันได้ อย่างไรก็ดี หญิงสาวจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฉีดวัคซีนดังกล่าวในกรณี ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับเชื้อเอชพีวีชนิดที่มีอยู่ในวัคซีนมาก่อน วัคซีนเอชพีวีที่ผลิตได้สำเร็จเป็นตัวแรก และได้รับการรับรองใช้ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลกแล้วนั้น สามารถครอบคลุมเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการการเกิดโรคมะเร็งปากกมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอดประมาณ 70% และยังสมารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศประมาณ 90%


4. ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะยังสามารถฉีดวัคซีนเอชพีวีได้หรือไม่ ? สำหรับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็ยังคงสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ เพียง แต่อาจจะไม่ได้รับประสิทธิภาพ สูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อย่าไรก็ดี เนื่องจากวัคซีนสามารถให้การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้หลายสายพันธุ์ถึงแม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีไปแล้ว ก็ยังได้รับประโยขน์จากการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีในบางสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในวัคซีนได้อีก


5. แนะนำการฉีดวัคซีนเอชพีวี ในช่วงอายุใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ? เนื่องจากวัคซีนเอชพีวี นี้จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีที่ยังไม่เคยมีการสัมผัสกับเชื้อซึ่ง เป็นสาเหตุหลักของโรคมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็กหญิง หรือหญิงสาววัยรุ่น ซึ่งนับเป็นการป้องกันล่วงหน้าก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ตามข้อแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แห่งสหรัฐอเมริกานั้นได้ให้การรับรองการใช้ในเด็กหญิง และหญิงสาวอายุ 9-26 ปีว่า วัคซีนสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักคือ 16 และ 18 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ ดังกล่าวมาก่อน และในอีกหลายประเทศชั้นนำก็มีการพิจารณาให้วัคซีนนี้เป็นวัคซีนภาคบังคับที่ให้ในเด็กหญิงและหญิงวัยรุ่นอายุช่วง 11-12 ปี ซึ่งนับเป็นการป้องกันก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ เนื่องจากโดยสถิติของการติดเชื้อเอชพีวีทั่วโลกนั้นพบว่า ช่วงอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือ 18-28 ปี และเชื้อเอชพีวีอาจใช้เวลาในการก่อตัวนานนับ 10 ปีก่อนที่จะปรากฏอาการผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า ผู้ป่วยโรคนี้ที่มักจะมีอายุในช่วง 35 –50 ปี นั้น ที่แท้จริงแล้วอาจเริ่มมีภาวะการก่อตัวของโรคนี้ตั้งแต่ในช่วงวัยสาว


6. วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสำหรับการฉีดในเด็กหญิงมากน้อยเพียงใด ? ผลการวิจัยได้ยืนยันว่า วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นวัคซีนที่สังเคราะห์ เลียนแบบโครงสร้างของเชื้อเอชพีวี โดยที่ไม่ได้นำส่วนประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดของสาย พันธุกรรมของเชื้อไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีนเมื่อร่างกายได้รับวัคซีนก็จะสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชพีวี โดยอาการข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมาก ผลการวิจัยยังได้แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในเด็กหญิงจะมีผลดีในเรื่องของการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่อีกด้วย


7. ถ้าอายุเกิน 26 ปี ยังสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ? ตามแนวคิดและหลักการในการให้วัคซีนเอชพีวีนั้น ถ้าหากเป็นการให้ก่อนที่จะเกิดการสัมผัสเชื้อหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัคซีน รวมทั้งการตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันก็เหมือนกับวัคซีนอีกหลาย ๆ ชนิดคือภูมิคุ้มกันจะสูงกว่าถ้าให้วัคซีนในวัยเด็ก ส่วนการตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลในแง่ของความคุ้มค่าที่จะลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีน เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะการติดเชื้อเอชพีวีที่อาจจะมีมาก่อนของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปลักษณะการติดเชื้อเอชพีวีนั้น มักจะเป็นการติดทีละชนิด ไม่ได้ติดพร้อมกันทีเดียวทุกสายพันธุ์ ดังนั้นการรับวัคซีนจึงยังสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ในวัคซีนที่ยังไม่มีการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนพิจารณาฉีดวัคซีน


8. วัคซีนชนิดนี้ สามารถฉีดในสตรีมีครรภ์หรือสตรีในระยะให้นมบุตรได้หรือไม่ ? ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้แก่สตรีมีครรภ์ สำหรับในกรณีที่มีการ ตั้งครรภ์ในระหว่างการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 หรือ 3 นั้น ควรหยุดฉีดทันที และกลับมาฉีดเข็มต่อไปหลังจากที่คลอดโดยไม่ต้องเริ่มฉีดเข็มแรกใหม่ ปกติทั่วไปหญิงตั้งครรภ์ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนซึ่งเป็นมาตรฐานการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่จากรายงานพบว่าวัคซีนนี้ไม่มีอันตรายต่อเด็กที่คลอดจากแม่ที่ซึ่งได้รับวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ ส่วนในระยะให้นมบุตรสามารถที่จะฉีดวัคซีนได้


9. การฉีดวัคซีนเอชพีวีจะฉีดบริเวณใด และมีผลข้างเคียงหรือไม่ ? การฉีดวัคซีนจะฉีดเข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการเหมือนกับการได้รับวัคซีนอื่น ๆ เช่น ปวดบวมแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำในบางราย หลังฉีดแนะนำให้นั่งลงพักสังเกตอาการประมาณ 30 นาทีก่อนกลับบ้าน


10. วัคซีนเอชพีวีนี้จะต้องฉีดทั้งหมดกี่เข็ม และจะป้องกันได้นานเท่าไร ? การฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจากการศึกษาที่ได้ติด ตามถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ปัจจุบันการศึกษาระยะเวลาของการป้องกันยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และพบแนวโน้มว่าวัคซีนเอชพีวีจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชพีวีที่มีอยู่ในวัคซีนได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะคล้ายกับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี คือในช่วงแรกที่มีการใช้วัคซีนก็ยังไม่ทราบระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน แต่ต่อมาก็พบว่าภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น





ที่มา :: คณะสูตินารีแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
 
 

ล้อมรั้วน้องสาว ฉีดวัคซีนกันไวรัสเอชพีวี


สูตินรีแพทย์ชวนคุยเรื่องไวรัสเอชพีวี อันตรายที่ติดง่าย แต่มีหนทางป้องกันได้ไม่ยาก เข้าใจให้ถูกลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
แพทย์หญิงเพชรรัตน์ ปิตะหงษ์นันท์ สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์





อวัยวะเพศ แม้เป็นส่วนสงวนที่ต้องปกปิดให้ลับตาก็จริง แต่เรื่องลับๆ นี้ ใช่ว่าจะต้องปิดถึงขั้นไม่พบแพทย์เพื่อตรวจภายใน หรือมองข้ามการป้องกันสุขภาพทางเพศไปเลย เพราะจากการพูดคุยกับ แพทย์หญิงเพชรรัตน์ ปิตะหงษ์นันท์ สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ บอกว่า...


“มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดของมะเร็งในผู้หญิงไทย ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ในประเทศไทยประมาณ 10,000 คนต่อปี หรือวันละ 27 ราย และเกือบครึ่งหนึ่งต้องเสียชีวิตลง นอกจากนี้ยังสามารถประมาณการว่า ในทุกๆ 2 นาที มีผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 1 คน


สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปปิลโลมาไวรัส (HPV: Human Papilloma Virus) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอชพีวี โดยตัวไวรัสเอชพีวีไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกโดยตรง แต่ไวรัสนี้จะเข้าไปเกาะตามเซลล์ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ มักใช้เวลาราว 10-20 ปี จึงกลายเป็นมะเร็ง


ไวรัสเอชพีวี มีกว่าร้อยชนิด และพบได้โดยทั่วไป แฝงอยู่ตามสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมือนไวรัสชนิดอื่นๆ แค่เพียงสัมผัสถูก ไวรัสก็สามารถติดมากับผิวหนัง ถ้ามีแผลหรือรอยถลอกก็จะเข้าไปภายในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันร่างกายจะกำจัดไปได้ ส่วนที่จัดการไม่ได้ก็จะสร้างปัญหาตามมา

สำหรับไวรัสเอชพีวีนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่ก่อมะเร็ง และชนิดที่ไม่ก่อมะเร็ง สำหรับชนิดที่ก่อมะเร็ง สายพันธุ์หลัก คือ เอชพีวี ชนิด 16 และ 18 ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 และยังก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้แก่ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก ส่วนอีกกลุ่มคือชนิดที่ไม่ก่อมะเร็ง สายพันธุ์หลักคือ เอชพีวี ชนิด 6 และ 11 ทำให้เกิดโรคหูดของอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ ถึงร้อยละ 90

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดไวรัสชนิดนี้ พญ.เพชรรัตน์ บอกว่า ติดได้ง่ายมากๆ ถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเอชพีวีแพร่และติดเชื้อได้เพียงการสัมผัส ซ้ำร้ายหากมีเซ็กซ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีบุตรหลายคน และสูบบุหรี่ โอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

แนวทางการป้องกันนั้น มี 2 ทาง เริ่มจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ช่วยป้องกันได้ร้อยละ 70-80 แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วจะรับวัคซีนป้องกันเอชพีวีไม่ได้ เพราะวัคซีนยังคงมีประโยชน์อยู่ เนื่องจากวัคซีนจะสามารถป้องกันไวรัสเอชพีวีในสายพันธ์ที่ไม่เคยติดมาก่อน แถมยังสามารถฉีดให้ผู้ชายได้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก และโรคหูดหงอนไก่

การฉีดวัคซีนนี้ทำได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ฉีดเข้าที่ต้นแขนลงในระดับกล้ามเนื้อ ดังนั้น ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดต้องหยุดยาก่อนมาฉีด เพื่อป้องกันเลือดไหลไม่หยุดหรือเลือดหยุดช้า อย่างไรก็ตาม ต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม ภายใน 6 เดือน โดยเข็มแรกเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนเข็มที่ 2 และ 3 เป็นการกระตุ้นภูมิ

อีกแนวทางป้องกัน พญ.เพชรรัตน์ แนะนำให้สาวๆ ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีไปจนถึงอายุ 70 ปี หรือหยุดตรวจก่อนอายุ 70 ได้ หากผลตรวจไม่พบความเสี่ยง 3 ครั้งติดต่อกัน

การฉีดวัคซีน แม้จะเจ็บจี๊ด แต่ก็เป็นการป้องกันที่คุ้มค่า.




ที่มา :: เดลินิวส์ออนไลน์
 
 
 
 
ความรู้วัคซีน เอชพีวี กับมะเร็งปากมดลูก

คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้ให้การรับรองขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิลโลมา (Human Papilloma virus vaccine) หรือ "วัคซีนเอชพีวี" จาก 2 บริษัทผู้ผลิตในปี 2550 และในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์การใช้วัคซีนนี้ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสื่อสารมวลชน ซึ่งบางครั้งมีข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย จัดทำคำแนะนำ ดังนี้

มะเร็งปากมดลูก : ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย แต่ละปีมีหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 6,500-7,000 คน ร้อยละ 40-50 จะเสียชีวิต ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี

เชื้อเอชพีวี : เป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัส ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อไวรัสผ่านเข้าทางเยื่อบุอวัยวะเพศหรือปากมดลูกเมื่อมีแผลหรือรอยถลอก เชื้อเอชพีวีมีกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ชนิดที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมี 15 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ที่เหลืออีกร้อยละ 30 เกิดจากไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่น เชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งจะทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง และถ้ารอยโรคก่อนมะเร็งนี้ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องก็จะกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ดังนั้น สตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรได้รับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นวินิจฉัยและการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนเอชพีวี : ปัจจุบันมีจำหน่าย 2 ชนิด คือ 1.ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อแล้วกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6,11,16,18 และ 2.ชนิดที่กระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16,18 จากการศึกษาวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งสายพันธุ์ 16 และ 18 เท่านั้น จึงป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 (ไม่ใช่ร้อยละ 100) ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอต่อไป

สำหรับวัคซีนชนิดที่กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 จะป้องกันโรคหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 ได้ด้วย ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ใช้สำหรับป้องกันเท่านั้น และจะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อฉีดก่อนได้รับเชื้อเอชพีวี หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ส่วนในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ถ้าได้รับเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีน 16 หรือ 18 สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง หรือทั้ง 2 สายพันธุ์อยู่ก่อนแล้วการฉีดวัคซีนจะได้ประโยชน์น้อยลง

ปัจจุบันมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในสตรีอายุ 11-26 ปี (ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก) สำหรับการฉีดวัคซีนเอชพีวีในหญิงช่วงอายุมากกว่า 26 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป และปัจจุบันไม่แนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนเอชพีวีต้องฉีด 3 ครั้ง คือ เมื่อเริ่มฉีดครั้งแรก หลังจากนั้น 1-2 เดือน จะฉีดครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรก 6 เดือน ปัจจุบันราคาวัคซีนเอชพีวี 3 เข็ม ประมาณ 12,000-14,000 บาท

จากการศึกษาในผู้หญิงอายุ 9-55 ปี พบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวีอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่อาจมีอาการบวม แดง มีไข้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเหมือนการฉีดวัคซีนอื่นๆ จากการติดตามหลังฉีดแล้ว 6 ปี พบว่าภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีอยู่ในระดับที่สูงพอ จึงยังไม่มีข้อบ่งชี้ให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในผู้ชาย และในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์







หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเอชพีวี หรือมะเร็งปากมดลูก ติดต่อที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (http://www.rtcog.or.th/) หรือที่สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย (http://www.tgcsthai.com/)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น