Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พาหะของฮีโมโกลบินอี (Carriers of hemoglobin E)

พาหะของฮีโมโกลบินอี (Carriers of hemoglobin E)


 




ฮีโมโกลบินอี (hemoglobin E, Hb E) เป็นฮีโมโกลบินผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่พบได้บ่อย ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี (carriers, trait) จะมีฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง 2 ชนิด คือ ฮีโมโกลบินเอ (Hb
A) และ ฮีโมโกลบินอี (Hb E) หรือเขียนเป็น Hb AE




ฮีโมโกลบินอี ถ่ายทอดจากพ่อและหรือจากแม่ไปสู่ลูก เหมือนกับการถ่ายทอดความสูง สีผม หรือ สีตา การถ่ายทอดนี้ไม่เลือกว่าเป็นเพศชายหรือหญิงจะถ่ายทอดเหมือนกัน และจะคงอยู่กับคนๆ นั้น ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงตลอดชีวิต
ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี คือผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ เพียงแต่ถ้าคู่แต่งงานของตน
เป็นพาหะของเบต้าธาลัสซีเมียโอกาสที่จะมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี (beta-thalassemia/Hb E)ซึ่งจะกล่าวต่อไป


 
 
 
เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี หมายความว่าอะไร


ในเลือดจะมีเม็ดเลือดแดงประมาณ 5 ล้านตัวต่อลูกบาศก์มิลลิลิตรลอยอยู่ในน้ำเลือดที่เรียกว่า พลาสมา ในเม็ดเลือดแดงจะมีสารสีแดงที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปตามหลอดเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายโดยฮีโมโกลบินเป็นตัวที่นำออกซิเจนที่ฟอกจากปอดไปสู่อวัยวะต่างๆ ปกติแล้วคนทั่วไปจะมีฮีโมโกลบินเอ (Hb A)ในการทำหน้าที่นี้ ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี จะมีฮีโม
โกลบินเอ (Hb A) และ ฮีโมโกลบินอี (Hb E) ทำหน้าทีนี้เช่นกัน


 
 
 
ฮีโมโกลบินอี ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อย่าไร


ฮีโมโกลบินอีถ่ายทอดผ่านทางยีน (genes) มนุษย์มีการถ่ายทอดคุณลักษณะต่างๆผ่านทางยีน (genes) เช่น สีของตา ความสูง หรือชนิดของ ฮีโมโกลบิน ยีนคือหน่วยพันธุกรรมที่กำหนดคุณลักษณะดังกล่าว
และถ่ายทอดจากพ่อและแม่ไปสู่ลูกลูกต้องมียีนของคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคู่คือ ยีนหนึ่งได้จากพ่อและอีกหนึ่งยีนได้จากแม่ คนปกติจะได้รับยีนของฮีโมโกลบินเอจากพ่อและแม่ แต่ในผู้ที่เป็นพาหะของ
ฮีโมโกลบินอีจะได้รับยีนของฮีโมโกลบินเอและยีนของฮีโมโกลบินอีจากพ่อและแม่

 

เราจะทราบได้อย่างไรว่ามียีนของฮีโมโกลบินอี


ทราบได้โดยการตรวจเลือดซึ่งมี 2 ขั้นตอนคือ
 
1. การตรวจกรองด้วยเครื่องตรวจเม็ดเลือดแดงอัตโนมัติ (CBC) โดยพบว่าเม็ดเลือดแดง (MCV) จะมีขนาดเล็ก
2. การตรวจวิเคราะห์หาชนิดของฮีโมโกลบิน (hemoglobin analysis, hemoglobin type) จะพบว่าประด้วยฮีโมโกลบินเอ (Hb A) และ ฮีโมโกลบินอี (Hb E)




เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีมีผลต่อสุขภาพหรือไม่


ผู้ที่เป็นพาหะจะไม่เจ็บป่วยง่ายกว่าคนปกติ จะไม่อ่อนแอแต่สามารถออกกำลังกายหรือทำงานได้เหมือนคนปกติ ผู้เป็นพาหะจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพไม่จำเป็นต้องรับประทานยาบำรุงยาโฟลิค หรือ ธาตุเหล็ก

 
ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีจะมีภาวะขาดธาตุเหล็กได้หรือไม่

 
มีโอกาสน้อยมากที่จะพบทั้งสองภาวะร่วมกันอย่างไรก็ตามถ้าสงสัยควรตรวจเลือดว่าขาดธาตุเหล็กหรือไม่ ถ้าพบว่าขาดธาตุเหล็กก็ให้การรักษาด้วยยาเสริมธาตุเหล็กจนภาวะขาดธาตุเหล็กหายขาด


 
ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีและตั้งครรภ์จะดูแลอย่างไร



ดูแลเหมือนหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปซึ่งอาจพบภาวะขาดธาตุเหล็กและรักษาโดยการให้ธาตุเหล็กเสริม
 
 

มีวิธีการรักษาที่ทำให้ไม่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีได้หรือไม่


ไม่มีวิธีใดๆ ผู้ที่เป็นพาหะก็จะเป็นตลอดไป

 
ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีจะเปลี่ยนเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดที่รุนแรงได้หรือไม่


เป็นไปไม่ได้

 
คนปกติทั่วไปจะติดฮีโมโกลบินอีจากผู้ที่เป็นพาหะได้หรือไม่


ฮีโมโกลบินอีจะไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง
 
 

ผู้ที่เป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี สามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่


สามารถบริจาคโลหิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

 
เบต้าธาลัสซีเมีย / ฮีโมโกลบินอี คืออะไร


คือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้ปกติปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงจะน้อยกว่าปกติทำให้ผู้ป่วยซีด อาการทางคลินิกมี 3 กลุ่มคือ
ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจะมีปัญหาโลหิตจางมีอาการซีดตั้งแต่อายุ 3 เดือน ถึง 1 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอายุสั้นอายุเฉลี่ย ใน 10 ปี
ประมาณ 1 ใน 2 ของผู้ป่วยมีอาการอยู่ในกลุ่มของอาการรุนแรงปานกลาง (thalassemia intermedia) อาจได้รับเลือดเมื่อเป็นวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่
ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่มีอาการน้อยดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด
 
 

เบต้าธาลัสซีเมีย / ฮีโมโกลบินอี ชนิดอาการรุนแรงรักษาอย่างไร


ผู้ป่วยจะซีดจำเป็นต้องได้รักษาโดยการให้เลือดทุก 4 สัปดาห์เรียกการรักษาแบบนี้ว่าการให้เลือดที่ความเข้มข้นของเลือดใกล้เคียงปกติ (high transfusion) เมื่อได้เลือดประมาณ 20 ครั้งก็จำเป็นต้องให้ยาขับธาตุเหล็ก ผู้ป่วยจะมีการเจริญเติบโตและทำกิจกรรมต่างๆได้ใกล้เคียงปกติ ในกรณีที่มีพี่หรือน้องที่ไขกระดูกเข้ากันได้การปลูกถ่ายไขกระดูกจะเป็นการรักษาที่หายขาด

 
มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำนายหรือคาดเดาว่าผู้ป่วยรายไหนอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง

 
ในปัจจุบันยังไม่การทำนายที่แน่นอนได้ 100 %ว่าผู้ป่วยรายใดจะมีอาการรุนแรง แต่การติดตามอาการทางคลินิกและการตรวจเลือดดูการผ่าเหล่าของเบต้ายีน (point mutation) หรือการพบยีนแอลฟ่าธาลัส
ซีเมียร่วมด้วยเช่นมีพาหะของแอลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ในผู้ป่วยเบต้าธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอี อาการจะไม่รุนแรงมากเป็นต้น

 
จะสามารถป้องกันโรคเบต้าธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอีได้หรือไม่

 
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้ข้อมูลและตรวจกรองพาหะของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ (ฮีโมโกลบินอี) ดังนี้
การตรวจกรองพาหะในหญิงตั้งครรภ์โดยหญิงที่มาฝากครรภ์จะได้รับการตรวจ โอเอฟ (osmotic fragility test, OF test) หรือตรวจ


 
การถ่ายทอดฮีโมโกลบินอี

 

1. ถ้าสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีและอีกคนหนึ่งปกติทุกครั้งที่มีการตั้งครรภ์จะมีโอกาสได้ 2 อย่างคือ 50% มีบุตรเป็นปกติ และ 50% มีบุตรเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี ดังตัวอย่าง






 
2. ถ้าสามีและภรรยาต่างเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีทั้งคู่ ทุกครั้งที่มีการตั้งครรภ์จะมีโอกาสได้ 3 อย่างคือ 25% มีบุตรเป็นปกติ 50% มีบุตรเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี และ 25% มีบุตรเป็นโฮโมซัยกัสของฮีโมโกลบินอี ดังตัวอย่าง

 


 
3. ถ้าสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอีและอีกคนหนึ่งเป็นพาหะของเบต้าธาลัสซีเมียทุกครั้งที่มีการตั้งครรภ์จะมีโอกาสได้ 4 อย่างคือ 25% มีบุตรเป็นปกติ 25% มีบุตรเป็นพาหะของเบต้าธาลัสซีเมีย 25% มีบุตรเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี และ 25% มีบุตรเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิด เบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี ดังตัวอย่าง









 
CBC และ ดีซีไอพี (DCIP) เพื่อกรองพาหะของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินอีตามลำดับ
การให้ข้อมูลและคำปรึกษกับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะและการติดตามสามีมาตรวจเลือด
การให้คำปรึกษากับสามีและภรรยาที่เสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคโดยการวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอดเป็นทางเลือกหนึ่งของหลีกเลี่ยงการมีลูกเป็นโรค
ดยทั่วไปแล้วการตรวจกรองพาหะในหญิงตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้ทำ ควรทำก่อนการตั้งครรภ์กรณีที่ภรรยาเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี


 

 
มีข้อแนะนำอย่างในการชวนสามีมาตรวจเลือดหาพาหะธาลัสซีเมีย


 
ข้อที่จะแจ้งให้สามีทราบคืออุบัติการณ์ของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินอี พบได้บ่อยสามีที่มาตรวจเลือดอาจจะปกติได้ แม้สามีที่มาตรวจเลือดเป็นพาหะของธาลัสซีเมียก็ยังมีโอกาสมีลูกปกติได้
ผลการตรวจเลือดและ การตัดสินใจของคู่สมรส ถือเป็นความลับ

 

 
อุบัติการณ์ของฮีโมโกลบินอีมีมากน้อยแค่ไหน


 
ฮีโมโกลบินอีเป็นฮีโมโกลบินผิดปกติที่พบได้บ่อย ประมาณ 1% ของประชากรโลกเป็นพาหะของฮีโมโกลบินอี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบได้บ่อยประเทศไทยในภาคอีสานโดยเฉพาะอีสานใต้ได้แก่ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบประมาณ 50% ที่กรุงเทพฯพบประมาณ 15-20%
 
 
 
 
ที่มา :: รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กิตติ ต่อจรัส
 
 
 
 
 
 
 

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทำอย่างไร...เมื่อจะคลอด แต่ลูกไม่ยอมกลับหัว!!!

ทำอย่างไร...เมื่อจะคลอด แต่ลูกไม่ยอมกลับหัว!!!
ตั้งครรภ์

ทำอย่างไร...เมื่อจะคลอดแต่ลูกไม่ยอมกลับหัว!!! (modernmom)


ยิ่งใกล้คลอดความวิตกกังวลก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สิ่งเดียวที่ว่าที่คุณแม่ภาวนาคงไม่พ้นขอให้การคลอดผ่านไป อย่างราบรื่น แต่ก็มีบางครั้งที่เมื่อถึงเวลา ลูกน้อยที่ต้องค่อย ๆ เคลื่อนตัวเอาหัวลงเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการคลอดกลับหาเป็นอย่างนั้นไม่ ทำให้การคลอดฉุกละหุกมีปัญหา

แบบไหนคือ "ลูกไม่ยอมกลับหัว"

ลูกไม่ยอมกลับหัว คือ ส่วนนำ (ส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด ใกล้ช่องทางคลอดมากที่สุด) ของลูกไม่ใช่ศีรษะ แต่เป็นก้นหรือเท้าแทน โดยแบ่งทารกกลุ่มนี้เป็น 3 ประเภท คือ

1.Extended Breech หรือ Frank Breech : ทารกจะอยู่ในท่านั่ง งอข้อสะโพก ขาเหยียดตรง เท้าชี้ไปข้างหู 2 ข้าง

2.Flexed Breech หรือ Incomplete Breech : ทารกอยู่ในท่านั่ง งอข้อสะโพกและข้อเข่า โดยเท้าทั้ง 2 ข้างอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าก้นเล็กน้อย

3.Footling Breech : คล้ายท่าที่ 2 แต่งอสะโพกน้อยกว่า และเท้าอยู่ต่ำกว่าระดับของก้น

โดยปกติแล้ว เมื่ออายุครรภ์ 28 และ 32 สัปดาห์ จะพบว่าทารกมีส่วนนำเป็นก้น 20-25% และ 15-20% ตามลำดับ ซึ่งทารกเหล่านี้จะค่อย ๆ กลับหัวเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปเมื่อครบกำหนดคลอด (อายุครรภ์ 37 สัปดาห์) ทารกจะกลับหัวโดยมีส่วนนำเป็นศีรษะ ทั้งนี้เพราะศีรษะเป็นส่วนที่กว้างและหนักที่สุด แต่จะมีทารก 3-4% ที่ยังมีส่วนนำเป็นก้นอยู่ หลังจาก 37 สัปดาห์ไปแล้ว อาจจะมีทารกส่วนน้อยที่กลับหัวได้เอง แต่ค่อนข้างยาก เนื่องจากขนาดตัวของทารกใหญ่คับมดลูก

ลูกจ๋า...ทำไมไม่ยอมกลับหัว

สาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์ไม่กลับหัว และพร้อมเข้าสู่กระบวนการคลอดตามปกติมีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ คือ

1.การคลอดก่อนกำหนด โดยทารกยังไม่ถึงช่วงสัปดาห์ที่ต้องกลับหัว

2.การตั้งครรภ์แฝด ซึ่งทำให้พื้นที่ในมดลูกมีจำกัด กลับตัวได้ยาก

3.ปริมาณน้ำคร่ำ มากหรือน้อยผิดปกติ

4.มีความพิการแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติของศีรษะ และระบบประสาทของตัวทารกเอง เช่น มีน้ำในส่วนโพรงสมอง Hydrocephalus หรือ Anencephaly

5.รกเกาะต่ำ ทำให้บริเวณด้านล่างของมดลูกแคบลงขวางการกลับหัวของทารก

6.ความผิดปกติของมดลูก ของคุณแม่ตั้งแต่กำเนิด เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก หรือมดลูกแยกเป็น 2 แฉก

7.เนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะบริเวณด้านล่างของมดลูก

8.หน้าท้องยืดขยายมาก อาจเกิดมาจากการตั้งครรภ์หลายครั้ง และกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง


จะเกิดอะไรหากลูกไม่ยอมกลับหัว

1.ภาวะสายสะดือเลื่อนลงมาก่อนทางช่องคลอดและถูกกดทับ (Prolapsed Cord) เกิดจากการที่ส่วนนำไม่ลงมาแนบสนิทกับช่องทางคลอด ทำให้มีช่องว่างให้สายสะดือไหลลงมาก่อนส่วนนำเมื่อมีน้ำเดิน

2.หากมีการคลอดก่อนกำหนดทางช่องคลอด อาจเกิดภาวะศีรษะของทารกติดค้างนาน ทำให้ขาดออกซิเจนได้


ทำอย่างไรช่วยให้ลูกกลับหัว

หากเกิดกรณีที่ลูกไม่ยอมกลับหัว จะต้องมีการช่วยกระตุ้นทารกด้วย ซึ่งทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม
1.Medical Technique

1.1.ECV (External Cephalic Version) เป็นการกลับตัวทารกโดยสูติแพทย์ ซึ่งต้องมีการให้ยาเพื่อให้มดลูกคลายตัว และใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ ช่วยในการดูท่าของทารก วิธีนี้ต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามอัตราการเต้นของหัวใจมารดาและทารกอย่างใกล้ชิด และถ้าอายุครรภ์มากขึ้นอัตราความสำเร็จจะน้อยลง

1.2.Chiropractic Care โดยมีการทำในต่างประเทศ เป็นการทำให้มดลูกคลายตัว และอุ้งเชิงกรานขยายจากการผ่อนคลายความตึงและความเครียด
2.Non Medical Technique

2.1.Breech Tilt ใช้หมอนขนาดใหญ่รองใต้สะโพก เป็นเวลา 10-15 นาที วันละ 3 ครั้ง ควรทำเมื่อท้องว่าง

2.2.เปิดเพลง โดยใช้หูฟังคาดไว้บริเวณด้านล่างของมดลูก เพราะมีความเชื่อว่าทารกชอบเสียงเพลง โดยจะเคลื่อนตัวไปตามเสียง

ท้ายสุดถ้าลูกไม่กลับหัว และสูติแพทย์แนะนำให้ผ่าตัดคลอด ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะปัจจุบันการผ่าตัดคลอดมีความปลอดภัยสูง และสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะศีรษะติด ทารกขาดออกซิเจนหากคลอดทางช่องคลอดและศีรษะติดในช่องคลอดนาน

แต่ถ้าหากคุณแม่ต้องการคลอดทางช่องคลอดจริง ๆ คุณหมอสูติฯ จะพิจารณาความเหมาะสมก่อน เช่น ทารกครบกำหนด มีน้ำหนักไม่เกิน 2,500-3,000 กรัม คุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และควรจะเป็นคุณแม่ท้องหลังที่มีประสบการณ์การคลอดทางช่องคลอดมาก่อนค่ะ
ที่มา :: Vol.17 No.201 กรกฎาคม 2555

คลอดในน้ำ ทางเลือก แม่คลอดธรรมชาติ

คลอดในน้ำ ทางเลือก แม่คลอดธรรมชาติ
คลอดในน้ำ

คลอดในน้ำ ทางเลือก แม่คลอดธรรมชาติ (Mother&Care)

หากจะพูดถึงการคลอดตามธรรมชาติแล้ว คุณแม่ท้องหลายท่านคงนึกถึงการคลอดบนบกแบบเบ่งคลอด แต่ยังมีวิธีการคลอดตามธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่งที่ปลอดภัย ก็คือ ‘การคลอดในน้ำ’ ถึงแม้การคลอดวิธีนี้จะยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยมากนัก เนื่องจากคุณแม่มักจะกลัวว่าน้ำจะเป็นอันตรายแก่ลูกน้อยและมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่มีการคลอดในน้ำ แต่แท้จริงแล้วการคลอดในน้ำเป็นการคลอดที่ปลอดภัยและอํานวยความสะดวกให้แก่คุณแม่ในการคลอด ทั้งยังทําให้คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างคลอดด้วย หากคุณแม่หาข้อมูลและปรึกษาขอคําแนะนําจากคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสมและทําใจให้สบายแล้ว การคลอดในน้ำก็ไม่ใช่วิธีที่อันตรายอย่างที่คิดเลยค่ะ

ทําความรู้จัก "คลอดในน้ำ"

การคลอดในน้ำ หรือ Water birth เกิดขึ้นในต่างประเทศ 30 กว่าปีมาแล้ว เป็นการคลอดลูกวิธีธรรมชาติ โดยแม่ท้องลงไปคลอดลูกในอ่างน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส โดยแรงพยุงตัวของน้ำอุ่นที่อยู่รอบตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่ผ่อนคลายและบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการคลอดให้ลดลงอีกด้วย

โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของแม่ท้องจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตสารเอ็นโดรฟินระหว่างภาวะการคลอด เพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายอย่างเพียงพอในการระงับความเจ็บปวด และเมื่อสิ้นสุดภาวะการคลอดแล้ว สารเอ็นโดรฟินจะลดปริมาณลง

"น้ำ" สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้โดยการทํางานร่วมกับสารเอ็นโดรฟิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ใยประสาทส่วนที่รับและส่งความเจ็บปวดไปสู่สมองส่วนนอก โดยอาศัยความรู้สึกทางผิวหนังของแม่ระงับความเจ็บปวด อีกทางหนึ่งคือร่วมกับความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวผ่อนคลายความเครียด สภาพแวดล้อมทางใจและกายที่เป็นส่วนตัว ก็จะยิ่งสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้มากขึ้น

 


"คลอดในน้ำ" ไม่อันตรายอย่างที่คิด

คุณแม่ท้องอาจมีความกังวลว่าน้ำในอ่างคลอดจะเป็นอันตรายต่อทารกในท้องหรือไม่ แล้วเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะจมน้ำหรือเปล่า?

ที่จริงแล้วน้ำในอ่างจะเป็นอันตรายต่อท้องของแม่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำในอ่าง ถ้าน้ำร้อนจนเกินไปก็จะเกิดความเสี่ยงต่อทั้งแม่และลูกในท้อง ดังนั้นอุณหภูมิของน้ำจะต้องอยู่ที่ 35-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำคร่ำในท้องแม่ ประมาณอุณหภูมิของร่างกายปกติ ไม่ร้อนจนเกินไป

ทั้งนี้น้ำที่นํามาใช้ในอ่างน้ำคลอดได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยรังสีอัลตราไวโอเลต ที่สามารถกําจัดเชื้อแบคทีเรียได้หมด และกําจัดเชื้อไวรัสบางชนิด ทําให้ทารกปลอดภัยจากการติดเชื้อขณะอยู่ในน้ำ

ส่วนความกังวลว่าทารกจะจมน้ำหรือไม่นั้น ตอนที่เพิ่งออกจากท้องแม่และยังอยู่ในน้ำอุ่น ทารกจะยังคงได้รับออกซิเจนจากเลือดที่ผ่านจากรกเข้ามาทางสายสะดือ และสามารถปรับตัวได้ก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ นอกจากนี้แรงดันของน้ำจะช่วยพยุงตัวทารกไว้ให้สามารถลอยตัวอยู่ในอ่างน้ำที่สภาพและความดันของน้ำเหมือนกับตอนที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทําให้ทารกรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่

ดังนั้นถึงแม้ทารกจะยังไม่มีการหายใจจนกว่าใบหน้าหรือผิวหนังจะขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่ก็สามารถอยู่ใต้น้ำ ในอ่างเพื่อปรับตัวก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำได้นาน 40-60 วินาทีโดยไม่เป็นอันตราย และช่วงเวลานั้นจะช่วยลดความเครียดของทารกได้อีกด้วย เมื่อคุณแม่อุ้มทารกขึ้นสู่ผิวน้ำ ทารกก็จะหายใจทันที เมื่อใบหน้าโผล่พ้นน้ำและผิวหนังถูกกระตุ้นจากการสัมผัสกับอากาศเย็นภายนอกท้องแม่
 

"คลอดในน้ำ" ดีอย่างไร?

มีความสะดวกสบายและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในการคลอด เพราะเมื่ออยู่ใต้น้ำ ร่างกายของแม่ท้องจะเบา มีอิสระในการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติและเปลี่ยนท่าได้สะดวก ซึ่งการอยู่ในท่าที่สบายในน้ำอุ่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อเชิงกรานและช่องคลอดเปิดให้ส่วนนําของทารกผ่านลงมาได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนี้ แรงพยุงของน้ำช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานขยายได้ง่าย รวมถึงการฉีกขาดของช่องคลอดน้อยกว่าการคลอดวิธีอื่น ทําให้คุณแม่ฟื้นตัวจากการคลอดได้เร็ว

การลอยตัวในน้ำอุ่นจะช่วยกระจายแรงหดรัดตัวของมดลูกออกไป ทําให้เลือดไหลเวียนได้ดีและมีออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยระงับอาการเจ็บท้อง ทําให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวและผ่อนคลายอาการเกร็งจากการลดระดับของอะดรีนาลิน และยังเพิ่มระดับของสารเอ็นโดรฟินและออกซิโทซิน ทําให้ความเจ็บปวดบรรเทาลงและระยะเวลาการคลอดสั้นลง

การแช่ตัวในน้ำอุ่นจะช่วยลดอาการความดันโลหิตสูงที่เกิดจากความวิตกกังวล โดยแรงต้านหรือแรงลอยตัวของน้ำจะช่วยลดภาวะการกดหรือความเครียดในช่องท้อง ด้วยการทําให้กล้ามเนื้อมดลูกได้รับออกซิเจนและบีบรัดตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ความเจ็บปวดของแม่ลดลง และทารกก็จะได้รับออกซิเจนมากขึ้นด้วย
 

คุณแม่ที่ไม่เหมาะกับการคลอดในน้ำ
เป็นโรคติดต่อหรือติดเชื้อเริมที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อเริมแพร่กระจายได้ง่ายในน้ำ ดังนั้น ช่วงใกล้คลอด แม่ท้องควรได้รับการตรวจเกี่ยวกับเริมเป็นพิเศษ และหากสงสัยว่าจะเป็นโรคเริม ควรรีบปรึกษาแพทย์

ทารกไม่อยู่ในท่าเตรียมคลอดปกติหรือทารกเอาก้นลง (breech)

ทารกมีน้ำหนักตัวมากเกินไป

แม่ตกเลือดมากหรือมีอาการติดเชื้อ

ตั้งท้องแฝด

เจ็บท้องคลอดก่อนกําหนด 2 สัปดาห์หรือมากกว่า

แม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูงอันเนื่องมาจากเคยมีอาการชักในระหว่างตั้งครรภ์
 
 
 
 
 
ที่มา ::

10 เคล็ดลับรับมือความเหนื่อยล้า สำหรับคุณแม่มือใหม่

10 เคล็ดลับรับมือความเหนื่อยล้า สำหรับคุณแม่มือใหม่



การได้มีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ เกิดขึ้นมาให้ได้เลี้ยงดูทะนุถนอม ซึ่งมาพร้อม ๆ กับสถานะใหม่ของชีวิต คือการได้เป็นคุณแม่ หลาย ๆ สิ่งที่คุ้นเคยก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตในไลฟ์สไตล์แบบเดิม ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย เวลาพักผ่อนอาจน้อยลง เพื่อให้ดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้สร้างความอ่อนล้าและความเครียดให้กับคุณแม่มือใหม่ได้ กระปุกดอทคอมจึงขอนำเคล็ดลับสำหรับคุณแม่มือใหม่เพื่อรับมือกับสถานการณ์อ่อนล้าในช่วงแม่ลูกอ่อนมาฝากค่ะ
1. ปรับชีวิตให้ช้าลง

ชีวิตของผู้ใหญ่ในปัจจุบันต่างเร่งรีบดำเนินไปแข่งกับเวลา แต่สำหรับชีวิตของเด็กทารกแล้ว เขาก้าวย่างด้วยอัตราเร็วที่ช้ากว่าเรามาก ๆ คุณแม่เองลองปรับการใช้ชีวิตของตัวเองให้ช้าลงตาม คุณก็จะรู้สึกเย็นลง และผ่อนคลายมากขึ้นได้ค่ะ
2. มองโลกในแง่ดี

คุณจะได้ชื่อว่าเป็นคุณแม่มือใหม่เพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังจากคลอดลูกเท่านั้น อาจจะเหนื่อยอย่างนี้ไปสักพัก แต่จะไม่ยาวนานแน่นอน ลองคิดดูว่าคุณสามารถทำอะไรให้ลูกในช่วงเวลานี้ได้บ้างดีกว่า และลงมือทำมันให้ได้มากที่สุด
3. งีบหลับทุกเมื่อที่มีโอกาส

พยายามงีบหลับให้ได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส เช่นในยามที่ลูกหลับปุ๋ย หรือยามที่มีคนคอยดูแลลูกน้อยแทน แม้อาจเป็นเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง แต่มันก็ทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้
4. หาทางผ่อนคลายตัวเองบ้าง

การดูแลลูกน้อยกินพลังงานคุณไปมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเติมพลังงานให้กลับมาเต็มเปี่ยมเหมือนเดิม ลองหากิจกรรมที่ชื่นชอบที่คุณสามารถทำได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง อย่างออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ แช่น้ำอุ่น จิบน้ำชา นั่งคุยกับเพื่อนบ้าน ก็จะช่วยให้คุณเติมความสดชื่นและคืนพลังงานกลับมาได้อีกครั้ง
5. คิดเสียว่าการที่ลูกร้องไห้คือการพยายามสื่อสารกับคุณ

หลายครั้งที่คุณต้องเหนื่อยกับการทำให้ลูกน้อยที่กำลังร้องโยเยสงบลง ให้คิดเสียว่าการที่เขาร้องไห้นั้นคือการพยายามสื่อสารกับคุณ (ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ แหละค่ะ) ไม่ว่าจะเรื่องหิว อับชื้น ไม่สบายตัว ร้อน หวาดกลัว ฯลฯ การที่คุณได้เรียนรู้ว่า การร้องแบบไหนของลูกแทนการสื่อสารอย่างไร จะทำให้คุณรู้สึกเข้าอกเข้าใจ สนุกที่ได้คุยกับลูก และสามารถปลอบเขาได้อย่างเห็นผล
6. ไม่ตั้งความหวังสูงกับสิ่งที่วางแผนไว้

คุณแม่หลาย ๆ คนออกจากงานเพื่อทุ่มเวลาให้กับการเลี้ยงเจ้าตัวน้อยโดยเฉพาะ หลาย ๆ คนก็คาดหวังไว้ว่าอาจรับทำงานที่บ้าน จัดบ้าน ทำสวน หรือปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ให้สวยงาม แต่ในความจริงการเลี้ยงเด็กอ่อนอาจยุ่งกว่าที่คุณคิด คุณอาจไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่คาดไว้สักอย่างเลยก็ได้ และเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ผิดหวัง สู้คาดหวังแต่เรื่องดูแลลูกให้ดี และค่อยแบ่งเวลาว่าง (ถ้าหากมี) ไปทำงานที่อยากทำจะดีกว่า
7. รับความช่วยเหลือจากคนอื่น

อย่าลังเลขลาดเขินที่จะตอบรับความช่วยเหลือของคนอื่นบ้าง เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือว่าเพื่อนบ้าน ที่อาสาช่วยดูแลเจ้าหนูน้อยของคุณให้ เพื่อคุณจะได้มีเวลาส่วนตัวเล็ก ๆ บ้าง
8. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง

บางทีการที่คุณแสดงออกว่าเป็นคุณแม่คนเก่งและแกร่ง ที่สามารถดูแลลูกด้วยตนเองได้ อาจทำให้คนที่คอยเป็นห่วงอยากจะช่วยเหลือรู้สึกขลาดเขินที่จะออกปากเสนอตัวคอยช่วย แต่เชื่อเถอะ ถ้าวันไหนที่คุณเหนื่อยล้ามาก ๆ ลองออกปากขอความช่วยเหลือฝากดูแลลูกน้อยสักหน่อย คนที่คอยเป็นห่วงรอบ ๆ ตัวคุณเขาจะไม่ลังเลที่จะตอบตกลงเลยล่ะ
9. เข้ากลุ่มกับคุณแม่มือใหม่คนอื่น ๆ

สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าและท้อมาก ๆ กับการเป็นคุณแม่มือใหม่ คือการที่คุณคิดว่ามีเพียงตัวคุณคนเดียวเท่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ความจริงแล้ว ความรู้สึกเช่นนี้ล้วนเกิดขึ้นกับคุณแม่มือใหม่ทุกคนทั่วโลก การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้สึก แลกเปลี่ยนคำแนะนำซึ่งกันและกัน จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้มาก ลองเข้ากลุ่มคุณแม่มือใหม่ที่โรงพยาบาล หรือศูนย์เด็กอ่อนดูนะคะ
10. ยอมรับตัวเองว่ารู้สึกอ่อนไหวง่ายขึ้น

คุณแม่บางคนรู้สึกว่าตัวเองอ่อนไหวมากขึ้น แค่เรื่องลูกมากระทบนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พาลจะร้องไห้ หลาย ๆ คนไม่ชอบที่ตัวเองเป็นเช่นนี้ แต่การอ่อนไหวไม่ได้แปลว่าอ่อนแอหรอกนะคะ อารมณ์เช่นนี้เหมือนจะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ ดังนั้นมาเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ในจุดนี้ของตัวเองดีกว่า แล้วคุณจะสบายใจขึ้นเยอะเลยล่ะค่ะ

ก้าวแรกของการเป็นแม่ จะเติบโตและพัฒนาไปพร้อม ๆ กับก้าวย่างในชีวิตของเจ้าหนูตัวน้อยของคุณเช่นกันค่ะ แม้จะเหนื่อยบ้าง เครียดบ้าง ท้อบ้าง แต่เรามั่นใจว่าด้วยสัญชาติญาณของความเป็นแม่ คุณจะผ่านพ้นมันไปได้อย่างแน่นอน และอย่าลืมดูแล ผ่อนคลายตัวเอง ตามคำแนะนำที่เรานำมาฝากกันนะคะ
 
 
 

20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง

20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง
ตั้งครรภ์

20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง (รักลูก)


สิ่งวิเศษสุดนี้สามารถเกิดขึ้นกับคุณได้เสมอถ้าเพียงแค่คุณท้อง เชื่อหรือไม่? 20 สิ่งวิเศษสุดต่อไปนี้สามารถเกิดขึ้นกับคุณได้เสมอ..ถ้าเพียงแต่คุณท้อง

แน่นอนว่าเมื่อท้อง เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นจากอาการหลายอย่าง รวมถึงต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แทนที่จะนั่งเบื่อหรือหงุดหงิดกับความเปลี่ยนแปลง เรามาช่วยกันคิดถึงด้านบวกของการท้องเพื่อเป็นการฉลองสำหรับช่วงเวลา 9 เดือนนี้กันดีกว่าค่ะ

1. แน่ใจได้เลยว่าเวลาข้ามถนน (บนทางม้าลาย) รถบนถนนนทั้งหลายจะต้องหยุดให้เราอย่างเต็มใจ

2. ผู้คนจะชอบมองท้องของเรา บางคนก็อดไม่ได้ที่จะยิ้มออกมาราวกับว่าการท้องของเราทำให้ช่วงเวลานั้นของเขาดูสดใสซาบซ่าขึ้น ซึ่งช่วยไม่ได้อีกเช่นกันที่เราจะพลอยรู้สึกสดใสไปกับรอยยิ้มของพวกเขาด้วย เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปมาที่แสนจะน่ารัก

3. หลังจากที่ต้องควบคุมอาหารเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เป็นสาวขึ้นมา แต่เมื่อท้องเราสามารถกินได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดและไม่ต้องกลัวอ้วน เราจะรู้สึกว่าชีวิตมันมีความหมายมากขึ้นจริง ๆ เมื่อได้กินอย่างที่ไม่ต้องกังวลกับตัวเลขบนตาชั่งที่เคยควบคุมชีวิตเรามานานแสนนาน

4. ถึงแม้น้ำหนักจะขึ้นมาสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มีใครทักว่าเราอ้วนขึ้น หรือผอมลง เพราะคำถามแรกที่ผู้คนมักจะทักทายเราก็คือ กี่เดือนแล้ว

5. เราสามารถนอนพักได้มากเท่าที่เราต้องการ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดว่าเป็นคนขี้เกียจ

6. เป็นครั้งหนึ่งหรือแค่ไม่กี่ครั้งในชีวิต ที่เราจะได้ฝันหวานถึงการตั้งชื่ออันไพเราะให้กับมนุษย์อีกคนที่เรารักมากที่สุด

7. เวลาไปไหนมาไหน เราจะรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นแก้วสวยอันเปราะบาง เพราะแม้กระทั่งพ่อค้าในตลาดที่เพิ่งเห็นกันครั้งแรกยังตะโกนด้วยความเป็นห่วง กลัวว่าเราจะเดินหกล้ม แล้วอย่างนี้จะไม่ให้รู้สึกดีได้อย่างไร

8. เมื่อท้องเราจะรู้ซึ้งถึงความรักที่พ่อแม่มีให้กับเรา และรักพ่อแม่มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

9. เมื่อท้อง เวลาที่มีเซ็กซ์เราไม่ต้องกลัวว่าจะท้อง หรือไม่ต้องกังวลเรื่องพยายามที่จะท้องให้ได้อย่างในสมัยก่อน นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เรามีเซ็กส์ได้อย่างสบายใจไร้กังวล เรียกว่าเป็นการมีเซ็กส์เพื่อความสุขของสองเรา (ก็ตัวเรากับสามีไงคะ) อย่างแท้จริงมากกว่าช่วงใด ๆ ในชีวิตเลยทีเดียว

10. เรากินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้น ระมัดระวังที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น เพื่อลูกในท้องจะได้มีสุขภาพดี และผลพลอยได้ก็คือ เรารู้สึกดีและมีสุขภาพดีไปพร้อมกับลูกด้วยในทุก ๆ วันที่ลูกเติบโต

11.ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากทุกคนในครอบครัว ทั้งสามี ญาติ รวมถึงเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน และยังได้รับความช่วยเหลือ และน้ำใจแสนงามจากคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่จริง ๆ

12. เสียงหัวใจของลูกที่เต้นอยู่ในตัวเรา ทำให้เรารู้สึกราวกับว่ามีเพื่อนอยู่ด้วยตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่ต้องไปไหนมาไหนคนเดียวเราก็ยังอุ่นใจที่ยังมีเพื่อนร่วมทางไปด้วยเสมอ

13. เวลาส่องกระจกดูพุงของตัวเอง แทนที่จะรู้สึกว่าพุงโตน่าเกลียด กลับรู้สึกว่าเราเป็นคนพุงโตที่น่ารักที่สุดในโลกเลย

14. เป็นช่วงที่เราสามารถสนุกกับการเฝ้าดูร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปแทบจะทุกวัน ทุกคืน เราจะรู้สึกตื่นเต้นกับชีวิตและร่างกายเราอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ทุก ๆ วันเราจะเฝ้าดูว่า วันนี้ท้องจะโตขึ้นแค่ไหนนะ มือจะบวมหรือเปล่า วันนี้จะใส่รองเท้าได้ไหม และอีกหลายสิ่งที่ทำให้เราสนุกไปกับตัวเอง

15. ได้ฝันหวานถึงครั้งแรกที่ใครบางคนเรียกเราว่า "แม่ หม่าม้า หรืออะไรก็ตามที่มีความหมายว่า แม่" และเรียกสามีของเราว่า "พ่อ ปาป๊า หรือคำพูดอะไรก็ตามที่หมายถึงพ่อ"

16. เวลามีใครถามว่าวันนี้คุณทำอะไรบ้าง เราสามารถหาคำตอบสนุก ๆ ตอบเขาได้อย่างเต็มปากเต็มคำและภาคภูมิใจว่า "ฉันกำลังสร้างหู จมูก สมอง" หรือ "ฉันกำลังสร้างคนค่ะ แล้วคุณล่ะคะวันนี้ทำอะไรบ้าง"

17. ในระหว่างการประชุมอันน่าเบื่อหน่ายที่เอาแต่ถกเถียงกันในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ลูกของเราจะดิ้นไปมาอยู่ในตัวเราเหมือนรู้ว่าแม่กำลังเบื่อมาก และมาชวนแม่เล่นด้วยให้แม่หายเบื่อ ความรู้สึกนี้ทำให้เราหลุดพ้นไปจากความเบื่อหน่าย เป็นการสื่อสารแบบลับสุดยอดระหว่างเราและลูกน้อยเท่านั้น เพราะใครล่ะจะมาร่วมรู้สึกแบบนี้กับเราได้

18. ใครที่เคยเป็นคนหน้าท้องเยอะ ขาดความมั่นใจมาตลอด แต่พอท้องความมั่นใจจะกลับมาเต็มร้อย กินเท่าไหร่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องพุงยื่น เพราะอย่างไรเสียความโตของท้องก็จะกลบและทำให้ดูไม่ออกว่าอันไหนกันแน่คือพุงยื่น

19. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างท้องจะทำให้เราได้รับความสวยงามแบบเป็นชุดโดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินเข้าร้านเสริมสวย ไม่ว่าจะผมที่หนาดกดำและนุ่มสลวยขึ้น เล็บที่แข็งแรงเป็นมันไม่หักง่าย ผิวสวยเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล และจากสาวไข่ดาว หรือสาวลูกเกดก็จะมีหน้าอกที่อวบอิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งศัลยกรรม

20. เรารู้ดีว่าอาการไม่ค่อยดีทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการเสียวคอ และหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ปวดข้อเท้า ปวดหลัง ทั้งหมดนี้จะมีวันสิ้นสุดที่แน่นอน เพราะมันไม่ใช่โรคร้าย แต่เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นกับคนท้องธรรมดา ๆ เท่านั้น พอคลอดแล้วก็จะหายไปเอง และสิ่งตอบแทนที่เราได้รับกลับมาจะเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด

ว้าว..แล้วอย่างนี้จะไม้ให้ "ท้อง" ได้อย่างไร !
 
 
 
ที่มา ::