Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ช่วงตั้งครรภ์กินยาแก้หวัดได้หรือเปล่า

ช่วงตั้งครรภ์กินยาแก้หวัดได้หรือเปล่า
ช่วงตั้งครรภ์กินยาแก้หวัดได้หรือเปล่า





“เป็นหวัดขณะตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายกับเด็กในท้องหรือเปล่า หรือทำให้เด็กผิดปกติหรือเปล่าคะ ไม่ทราบว่ายาที่คุณหมอให้ทานนั้นมาผลกระทบต่อเด็กในท้องหรือเปล่า”นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์เกือบทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ทำเอาปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศไม่ทัน ย่งกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อต่างๆ ง่ายกว่าคนปกติอยู่แล้วด้วย เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในช่วง 40 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์ คุณอาจจะเป็นหวัดอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง



ทีนี้มารู้จัก โรคหวัด หรือไข้หวัด กันก่อนนะ หวัด (Common Cold) เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ที่เกิดจากการไอ หรือจาม จึงทำให้ติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งง่ายมาก หากมีใครสักคนเป็นหวัดอยู่เวลาไอ หรือจาม แล้วไม่ได้ใช้ผ้าปิดป้อง ก็จะปล่อยละอองสารคัดหลั่ง ที่อุดมไปด้วยเชื้อโรคกระจายเต็มไปหมด บังเอิญเราเดินเข้ามาในบริเวณนั้นพอดี เลยหายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยเจ้าเชื้อโรคตัวนี้ เข้าไป เชื้อเหล่านี้เมื่อล่องลอยผ่านโพรงจมูกเข้าไป ก็จะไปติดตรงบริเวณคอทำให้เกิดอาการอักเสบ มีไข้ ตัวร้อน เจ็บคอ พอคอมีการระคายเคือง ก็จะสร้างมูกออกมาเป็นเสมหะ มีน้ำมูกไหล เยื่อบุโพรงจมูกก็บวม เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก นอกจากนี้การสัมผัสสารคัดหลั่งที่ตกอยู่ตามที่ต่างๆ จากคนที่เป็นหวัดเช่น ลูกบิดประตู แก้วน้ำ หรือ สัมผัสที่ตัวผู้เป็นหวัดโดยตรง ก็มีโอกาสได้รับเชื้อสูง เมื่อมือที่สัมผัสเชื้อเหล่านั้นมาถูกที่ ตา จมูก หรือ ปาก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเวลาเป็นคนหนึ่งแล้วทำไมคนอื่นในบ้านติดกันหมด หรือเด็กที่ไปโรงเรียนทำไมถึงเป็นหวัดอยู่บ่อยๆ เพราะเด็กๆมักเล่นและสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกป่วยควรให้เด็กหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ


ไข้หวัดส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสที่ สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทานยาประเภทยาแก้อักเสบ หากมีอาการแค่คัดจมูก น้ำมูกใสๆ มีไข้ตัวร้อนไม่มาก ไม่เจ็บคอมาก ไม่มีเสมหะเขียวๆ เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเยอะๆ และให้การรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ก็กินยาลดไข้ ในกลุ่ม พาราเซทตามอล (acetaminophen) หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม แอสไพริน (Aspirin) หรือ บูเฟ่น (ibuprofen) เมื่อมีน้ำมูกหรือไอ ก็ใช้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้ไอได้ ยาลดน้ำมูกที่ใช้ส่วนใหญ่ในกลุ่มคลอร์เฟนนิรามีน หรือ ซีพีเอ็ม (CPM) ส่วนยาแก้ไอละลายเสมหะ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย หรืออัลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ใช้ยาในกลุ่มบรอมเฮ็กซีน เช่น ไบโซวอน ซึ่งอาการดังกล่าวถ้าเป็นจากเชื้อไวรัสจะสามารถหายได้เอง ในเวลา 3 - 7 วัน


แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น รู้สึกเจ็บคอมากขึ้น มีน้ำมูกเหลืองหรือเขียว หรือมีอาการไอ ที่มีเสมหะข้นเหนียวสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่หายเอง ควรไปหาคุณหมอเพื่อรับการตรวจ มิเช่นนั้นอาการอาจลุกลามจากการอักเสบของคอ ลงไปที่หลอดลม เกิดหลอดลมอักเสบ และถ้าเป็นมากอาจลุกลามไปที่ปอดทำให้เกิดอาการปอดบวม ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยยาทางน้ำเกลือ และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน โดยเฉพาะในรายที่เป็นหอบหืดด้วยแล้ว อาการจะเป็นหนักกว่าคนปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและให้ยารักษาที่ถูกต้อง ยาที่จ่ายโดยสูตินรีแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นยากลุ่มที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้ถ้าอาการเป็นมากขึ้นร่วมกับไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เบื่ออาหาร อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ หรือ ไข้หวัด 2009 ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที


การเป็นหวัด ไม่ได้มีผลกับทารกโดยตรง เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ระบบหายใจส่วนบน จึงไม่ทำให้เกิดผลต่อความพิการต่อทารกในครรภ์ ต่างกับอีกหลายโรคที่เชื้อสามารถผ่านรกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้โดยตรง เช่น หัดเยอรมัน ซิฟิลิส เริมเป็นต้น เชื้อเหล่านี้ถ้าติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกที่เด็กทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆอยู่ด้วยแล้ว โอกาสเกิดความพิการต่อทารกจะสูงขึ้น ดังนั้นไข้หวัดจึงไม่เกิดผลโดยตรงต่อทารก แต่ถ้าเป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจได้รับผลทางอ้อมจากการติดเชื้อ เช่น ถ้าไอมากๆในช่วงครรภ์อ่อนๆ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ การติดเชื้อเรื้อรัง ทำให้กินอาหารไม่ได้หรือ เบื่ออาหาร ทำให้มารดาได้รับอาหารไม่เพียงพอ ในระยะยาวอาจเกิดปัญหาทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ตามมาได้


ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรศึกษารายละเอียดการใช้ยาในแต่ละตัวที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง





กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้


Acetaminophen หรือ พาราเซ็ทตามอล ใช้สำหรับแก้ปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ มีมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด เช่น ไทลินอล ซาร่า ถ้าไม่มีการใส่ส่วนผสมของ โคดิอีน (Codeine) เข้าไป สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยทุกระยะของการตั้งครรภ์ ไม่มีรายงานการเกิดความผิดปกติ หรือพิการของทารกในครรภ์ จากการใช้ยานี้ ขนาดที่ใช้ สำหรับผู้ใหญ่ คือ ขนาดเม็ด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง


Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เป็นยากลุ่มต้านการอักเสบ เช่น บูเฟ่น ไอบูโปรเฟ่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดไข้ได้ดี แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ มีรายงานการใช้ยาสัมพันธ์กับการแท้งบุตรในครรภ์ (spontaneous abortion)โดยเฉพาะการใช้ยาในไตรมาสที่สาม จะมีผลทำให้ลิ้นหัวใจทารกในครรภ์ปิดก่อนกำหนด (premature closure of the ductus arteriosus)





กลุ่มยาลดน้ำมูก


คลอร์เฟนนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือ CPM เป็นยาแก้คัดจมูก ลดน้ำมูก ไม่มีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ แต่มีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ในระหว่างใช้ยา


ซูโดเอฟิดีน (Pseudoephedrine) มีรายงานวิจัยทั้งที่มีผลเสีย และไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงในกรณีที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในไตรมาสแรก และคนที่มีความดันโลหิตสูงไม่ควรใช้ยานี้





กลุ่มยาแก้ไอ


เด็กซ์โตรเมทโทรเฟน (Dextromethorphan) , บอมเฮ็กซีน (Bromhexine) หรือไบโซลวอน (Bisolvon) ยาน้ำจิบแก้ไอ หรือยาแก้ไอน้ำดำต่างๆ เป็นยาลดอาการไอ ละลายเสมหะ ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยต้องเป็นชนิดที่ไม่มี แอมโมเนีย หรือ แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำว่า การดื่มน้ำอุ่นคือยาแก้ไอ ละลายเสมหะที่ดีที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เพราะเสมหะมีคุณสมบัติคล้ายๆ วุ้น ซึ่งเมื่อถูกความร้อนจะเหลวใส และถูกขับออกได้งาย แต่ถ้าถูกความเย็นก็จะเหนียวข้น ดังนั้นยิ่งกินน้ำเย็นเสมหะก็จะยิ่งเหนียวติดแน่น คันในคอ จะยิ่งไอมากขึ้นอีกต่างหาก


กลุ่มยาอม ยาพ่น คอต่างๆ ใช้สำหรับทำให้ชุ่มคอ และแก้อาการคอแห้ง ระคายคอ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และลดอาการไอจากการระคายคอด้วย ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ จึงใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ยาอม มายบาซิน สเตร็ปซิล หรือยาพ่นคอ คาร์มิโลซาน





กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)


ยาแก้อักเสบหากใช้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน เช่น แอมพิซิลลิน (Ampillin) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ไอเบียม็อก (Ibiamox) ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่มีประวัติแพ้ยาเหล่านี้มาก่อน ถ้ามีประวัติแพ้เพนนิซิลลิน ควรเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือ แมคโครไลด์ (Macrolide) เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)หรือ อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline) เพราะจะทำให้เกิดฟันสีเหลืองดำในเด็ก


จะเห็นว่าการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้มีอันตรายหรือน่ากลัวเสมอไป หากเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสม เช่นหลีกเลี่ยงการใช้ยาในช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ (Organogenesis) คือช่วงระยะเวลา 5-10 สัปดาห์หลังประจำเดือนครั้งสุดท้าย หรือ เลือกใช้ยาในกลุ่มที่ปลอดภัย โดยศึกษาหรือสอบถามจากแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง


หลักง่ายๆ เมื่อเจ็บป่วยในขณะตั้งครรภ์ก็คือ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้อง ควรไปพบสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้จะดีที่สุด หรือหากไปพบหมอท่านอื่น ก็ต้องบอกให้ทราบด้วยทุกครั้งว่า ตั้งครรภ์อยู่ เพราะคุณหมอ จะได้สั่งยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ โดยมากคุณหมอจะให้กินยาในระยะสั้นๆ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อผลกระทบต่อลูกในครรภ์น้อยที่สุด...หลักสำคัญ คือ การป้องกันตัวเองจากโรค โดยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง เช่นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ รักษาสุขอนามัยให้ดี เช่น ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร ทานอาหารที่สุกร้อน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลที่เป็นโรค หรือเข้าไปในแหล่งที่มีโอกาสติดเชื้อสูง เช่น โรงหนัง โรงพยาบาล หลีกเลี่ยงสิ่งทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ เท่านี้ก็ทำให้คุณห่างไกลจากโรคหวัดได้แล้ว





โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น