Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก




บทนำ

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทย สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ Human papilloma virus หรือหูดหงอนไก่ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็จะพัฒนาก่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสตรีควรได้รับการตรวจเพื่อสืบค้นหามะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป ซึ่งหากพบว่าเป็นในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และการฝังแร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา


ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด ฉายแสง รวมไปถึงเคมีบำบัดมักจะส่งผลให้การบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการมากขึ้น ซึ่งหากเกิดอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการดูแลรักษาแล้ว จะทำให้เกิดภาวะซีด เม็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น การดำเนินของโรคแย่ลง อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้ป่วย หากส่งเสริมโภชนาการที่ดีและถูกต้องจะทำให้อาการข้างเคียงจากการรักษาลดน้อยลง และช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย


การจัดอาหาร
ข้าวแป้ง
ผู้ป่วยสามารถรับประทานข้าวแป้งได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน โดยแบ่งรับประทานให้ครบทุกมื้อ อาจเน้นไปที่ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ขนมปัง บางมื้อที่เบื่อรับประทานข้าวอาจเปลี่ยนเป็นขนมปัง โดยขนมปัง 1 แผ่นจะให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าว 1 ทัพพี หรืออาจเปลี่ยนเป็นก๋วยเตี๋ยว หรือวุ้นเส้นก็สามารถเลือกทดแทนข้าวได้เช่นเดียวกัน
เนื้อสัตว์
กลุ่มเนื้อสัตว์เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเนื้อสัตว์มักมีไขมันมากเกินไป และมักจะอยู่ในรูปของไขมันแฝง ควรจะเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป โดยใน 1 วัน ควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ป่วยหนัก 50 กิโลกรัมควรได้รับโปรตีน 75 กรัม ต่อวัน เป็นต้น
กลุ่มเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้ คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อปลา, สันในไก่, อกไก่ เป็นต้น
กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยง คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ได้แก่ หมูบด, เนื้อสะโพก, ไส้กรอก เป็นต้น

ไขมัน
ควรลดการบริโภคไขมันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่คงไม่ถึงกับต้องงดรับประทานไขมันทุกชนิดไปเลย ควรได้รับไขมัน 15-20% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน งดเว้นน้ำมันทอดซ้ำเนื่องจากอาหารเหล่านี้จะมี Polyaromatic hydrocarbon (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอนุมูลอิสระจำนวนมาก
ผลไม้
ควรเลือกชนิดมีเส้นใยสูง เช่น พวกแอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีสีสดเพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่พอเพียง แต่อาจพบได้ในบางกรณีที่รับประทานผลไม้แล้วเกิดอาการท้องอืด ถ่ายลำบาก ซึ่งหากผู้ป่วยรับประทานผลไม้แล้วรู้สึกเช่นนี้ แสดงว่าผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ใยอาหารดูดซึมสารหล่อลื่นในลำไส้แทน ดังนั้นเมื่อรับประทานเส้นใยสูงก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย

ผัก
สามารถรับประทานผักเส้นใยสูงได้เกือบทุกชนิด โดยคนเราต้องการอาหารเส้นใยมากถึงวันละ 20 กรัม เส้นใยมีประโยชน์ในการไปจับกับสารก่อมะเร็ง carcinogen แล้วขับออกทางอุจจาระได้ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องอืดร่วมด้วยอาจต้องลดการรับประทานผักลง
 
 
 
 
 
อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด


เมื่อครั้งแรกของการได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการวางแผนการรักษาและจะแจ้งให้ทราบว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ในขณะได้รับเคมีบำบัด ฉายรังสี หรืออื่นๆ โดยส่วนมากการรักษาด้วยเคมีบำบัดมักจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมาซึ่งสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโดยตรง เช่น
 ความอยากอาหารลดลง  น้ำหนักลด
 เม็ดเลือดต่ำ  เป็นแผลในช่องปาก
 ปากแห้งคอแห้ง  ปัญหาเหงือกและฟัน
 การรับรสและกลิ่นเปลี่ยน  คลื่นไส้ อาเจียน
 ท้องเสีย  ท้องผูก
 มีอาการอ่อนเพลีย

โดยการดูแลทางโภชนาการที่ดีจะทำให้ลดอาการข้างเคียงของการรักษาได้ นอกจากนั้นจะทำให้ลดภาวะการขาดสารอาหาร เพราะหากเกิดอาการดังกล่าวมาก จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

การดูแลด้านอาหารก่อนได้รับเคมีบำบัด

การได้รับเคมีบำบัดจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้ารับเคมีบำบัด สำคัญที่สุด คือ ทำจิตใจให้สบาย และได้รับอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตในรูปของข้าวที่ไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ได้ทุกประเภทที่ไม่มีไขมัน และน้ำมันควรบริโภคแต่พอดี อีกทั้งต้องพยายามจัดเตรียมอาหารสำหรับขั้นตอนระหว่างการได้รับเคมีบำบัด โดยต้องแจ้งให้ผู้ดูแลหรือญาติทราบ เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือในระหว่างการรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การดูแลด้านอาหารระหว่างการได้รับเคมีบำบัด

ระหว่างการรับเคมีบำบัดมักจะเกิดอาการข้างเคียงขึ้นได้ ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล หากการเตรียมความพร้อมดีและทำจิตใจให้สบาย อาการแทรกซ้อนก็จะมีน้อย แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ไม่ต้องกังวล ควรทำใจให้สบายและใช้หลักโภชนบำบัดในการดูแลสุขภาพ ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้

 ความอยากอาหารลดลง
ควรเริ่มรับประทานอาหารแต่น้อยแต่กระจายมื้ออาหารให้มากขึ้น และจัดรูปแบบอาหารให้น่ารับประทาน พยายามคิดถึงเมนูที่ตนเองชอบมากที่สุด แต่เมนูดังกล่าวไม่ควรขัดกับหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

 น้ำหนักลดและเม็ดเลือดต่ำ
ควรทำการเสริมอาหารประเภทของโปรตีน โดยควรได้รับโปรตีนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โปรตีนควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา และเนื้อไก่ไม่ติดมัน หากน้ำหนักยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มการดื่มน้ำผลไม้ให้มากขึ้น

 เป็นแผลในช่องปาก ปากแห้งคอแห้ง
การเกิดแผลในช่องปากหรือปากแห้งมาจากการที่เซลล์เยื่อบุผิวถูกทำลาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 10 แก้ว นอกจากนั้น อาจจะต้องพิจารณางดอาหารรสจัดในระหว่างเกิดอาการดังกล่าว รวมไปถึงอาหารที่รสเปรี้ยวจัด และ อาหารที่มีความร้อนมากเกินไปก็ควรหลีกเลี่ยง และควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ

 การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นรสชาติอาหารควรมีการดูแล และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ที่สำคัญควรมีการเพิ่มกลิ่นในอาหาร เช่น ใส่ใบโหระพาเพื่อชูกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นน่ารับประทานมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากเพราะไขมันจะทำให้ตุ่มรับรสรับรสชาติได้แย่กว่าเดิม

 คลื่นไส้อาเจียน
เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้ อาหารที่รับประทานต้องมีลักษณะอ่อนย่อยง่าย ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากจนเกินไป และเริ่มให้รับอาหารปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหาร แต่อาหารที่เลือกรับประทานควรเป็นอาหารพลังงานสูง เช่น เลือกเนื้อปลานำมานึ่งรับประทาน

 ท้องเสีย
หากเกิดอาการท้องเสีย ควรงดเว้นการรับประทานอาหารรสจัดรวมไปถึงผักผลไม้ ไม่ควรรับประทานเส้นใยอาหารที่มากเกินไปในขณะที่เกิดอาการท้องเสีย ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีรสจืด เพื่อลดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกทุกชนิด แม้แต่ผักผลไม้ควรจะต้มหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในผักเหล่านั้น
ข้าวต้มเปล่า ๆ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มกำลังวังชาและช่วยลดอาการท้องเสีย สำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสียอย่าเพิ่งรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวจนถึงข้าวต้มใส ๆ เพื่อให้ลำไส้มีโอกาสได้ปรับตัว เมื่อท้องเสียร่างกายเสียน้ำมาก ควรรับประทานน้ำข้าวเติมด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อเป็นการเพิ่มเติมโซเดียมด้วย

 ท้องผูก
ถ้าเกิดอาการท้องผูกและแน่นท้องควรดื่มน้ำให้มากขึ้น และเลือกรับประทานอาหารเส้นใยให้มากขึ้น โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นประจำยังช่วยได้มาก เช่น ทุกครั้งตอนตื่นนอนก็เข้าห้องน้ำแม้จะไม่ปวดอุจจาระก็ตาม เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เคยชินหากมีอาการท้องผูก และควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว

 ท้องอืด
เป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีการตกค้างของอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์อยู่ในระบบทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ประจำถิ่นจะทำหน้าที่ย่อยแทนร่างกายเราทำให้เกิดแก๊สขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด การรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารที่ย่อยง่ายจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
อาหารเบาย่อยง่าย เช่น ข้าว ไข่ขาว ผักกาดแก้ว ปลา และยังมีอาหารและสมุนไพรบางตัวที่มีสรรพคุณช่วยย่อย และลดกรด เช่น ขมิ้นชัน สะระแหน่ น้ำว่านหางจระเข้ น้ำทับทิม เป็นต้น
 มีอาการอ่อนแรง
อาการอ่อนแรงควรกลับมาสำรวจดูอาหารที่รับประทานว่าเพียงพอหรือไม่ หากพบว่าไม่พอเพียงอาจจะต้องเพิ่มจำนวนอาหารให้มากขึ้น หรือ มีการดื่มน้ำผลไม้เย็น ๆ จิบเล่นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นระหว่างการได้รับเคมีบำบัด

อาหารกับเคมีบำบัดหลังได้รับการรักษา

หลังจากได้รับเคมีบำบัดอาจจะเกิดอาการผมร่วง ซึ่งเมื่อหลังได้รับการรักษาแล้วผมอาจจะยังไม่ขึ้น ควรเน้นการให้ผู้ป่วยได้รับอาหารประเภทโปรตีนให้พอเพียง นอกจากนี้ควรเพิ่มในส่วนของข้าวไม่ขัดสีเพื่อให้ได้รับวิตามินบีที่พอเพียง อีกทั้งหากอาการท้องเสียยังไม่หายดีอาจจะต้องกลับไปพบแพทย์ ควรดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารในการปรุงประกอบอย่างต่อเนื่อง การได้รับอาหารยังคงเป็นพวกอาหารพลังงานสูงและมีโปรตีนสูงอยู่ เพราะอาหารดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 
 
 
ใยอาหารกับโรคมะเร็ง

อาหารที่เป็นแหล่งของใยอาหารมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อร่างกายคนเรา สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยก็จะช่วยจับสารก่อมะเร็งแล้วขับออกจากร่างกาย สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งแล้วก็จะสามารถลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่จะเข้าไปกระตุ้นร่างกายใหม่ได้ อีกทั้งข้อดีของใยอาหารจะช่วยในการจับน้ำตาลให้ปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดช้าๆ เมื่อน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าก็ไม่กระตุ้นให้อินสุลินหลั่งเยอะเกินไป ลดการเอาน้ำตาลเข้าไปเป็นอาหารของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี
การเลือกใยอาหารต้องเลือกชนิดที่ย่อยง่าย เนื้อสัมผัสไม่แข็ง เมื่อรับประทานใยอาหารควรดื่มน้ำตามในปริมาณมากขึ้น เพื่อให้ใยอาหารอุ้มน้ำและอ่อนตัวเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น เช่น การรับประทานฝรั่งซึ่งจัดเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง แต่เมื่อรับประทานน้ำตามน้อยจะเกิดปัญหาท้องผูกแทนที่จะช่วยเพิ่มการถ่ายท้อง ดังนั้นการรับประทานฝรั่งก็ต้องดื่มน้ำตามให้มากขึ้น เพื่อให้ใยอาหารในผลฝรั่งดูดซึมน้ำที่ดื่ม ไม่ไปดูดซึมสารเมือกที่ผนังลำไส้ จึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การได้รับใยอาหารเพียงอย่างเดียวมากเกินไปก็ไม่สมดุล เพราะจะทำให้ใยอาหารดูดซับเกลือแร่พวกธาตุเหล็กไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ปริมาณพอเหมาะสำหรับใยอาหารที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน 25-30 กรัมต่อวันก็พอ

โดยสรุปแล้ว อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในผู้ป่วยมะเร็ง ก็ยังแนะนำให้รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวกล้องเป็นข้าวที่อุดมไปด้วยใยอาหารและวิตามินบีรวม แต่การได้รับข้าวกล้องให้ระมัดระวังในกรณีผู้ป่วยท้องเสีย ท้องอืด และเม็ดเลือดแดงต่ำ เพราะผู้ที่อยู่ในภาวะท้องเสีย ท้องอืด ควรจำกัดใยอาหาร และระหว่างเม็ดเลือดแดงต่ำร่างกายต้องการธาตุเหล็ก ข้าวกล้องมีใยอาหารสูงจะไปยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงควรรับประทานข้าวขาวก่อนในช่วงเม็ดเลือดแดงต่ำ





 
 
 
 
น้ำตาลกับผู้ป่วยมะเร็ง



คาร์โบไฮเดรตก็คือน้ำตาล โดยทั่วไปเราแบ่งออกได้เป็น น้ำตาลเชิงเดี่ยว (Monosaccharides) น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharides) น้ำตาลโอลิโก (Oligosaccharides) และ น้ำตาลหลายโมเลกุล (Polysaccharides)
น้ำตาลเชิงเดี่ยว
ได้แก่ พวกน้ำตาลกลูโคส เป็นสารให้ความหวานปกติที่ร่างกายนำไปใช้พลังงาน น้ำตาลกลุ่มนี้หากมีมากเกินไปในกระแสเลือด ร่างกายต้องพยายามเก็บเข้าสู่เซลล์ ดังนั้นหากได้รับน้ำตาลกลุ่มนี้มากเกินไป ก็เหมือนเป็นการเติมสารอาหารให้กับเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งจึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการรับประทานน้ำตาลกลุ่มนี้
น้ำตาลตัวนี้ไม่มีผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด หากแต่ให้พลังงาน โดยปกติร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลดังกล่าวไปใช้ได้ทันที จำต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับก่อน ระหว่างรับการรักษาหากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องท้องเสีย และการทำงานของตับมากเกินไป ก็ควรงดการใช้น้ำตาลเชิงเดี่ยว
ในอาหารปกติไม่พบการใช้น้ำตาลรูปแบบนี้ในการปรุงประกอบอาหารมากนัก แต่มักพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล และขนมเบเกอร์รี่ เพราะเป็นน้ำตาลที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลกลุ่มอื่นมาก นอกจากนี้ยังพบได้ในผลไม้รสหวานจัด
น้ำตาลโมเลกุลคู่
ได้แก่ น้ำตาลซูโครส น้ำตาลในกลุ่มนี้จะพบได้บ่อยกว่าตัวอื่น เพราะมัน คือ น้ำตาลทรายที่เราใช้ประกอบอาหารนั่นเอง จากข้างต้นทราบกันแล้วว่าการได้รับน้ำตาลมากเกินไปสามารถเติมพลังงานให้กับเซลล์มะเร็งได้ แต่เราก็ไม่สามารถงดน้ำตาลได้ 100% เพราะร่างกายปกติก็ยังจำเป็นต้องได้รับพลังงานอยู่เสมอ ปริมาณน้ำตาลที่แนะนำควรจำกัดปริมาณอยู่ที่ 5 ช้อนชาต่อวัน ไม่ควรเกินนี้ ส่วนการได้รับน้ำตาลนมพวกแลกโตสนั้น ถ้ามีปัญหาเรื่องการย่อยนมและท้องอืด ท้องเสียอยู่ ผู้ป่วยมะเร็งควรต้องพิจารณางดน้ำตาลแลคโตสหรือน้ำตาลนมด้วย เพราะจะทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง
น้ำตาลหลายโมเลกุลและน้ำตาลโอลิโก
น้ำตาลพวกนี้ ได้แก่ พวกข้าวแป้งที่รับประทานกันอยู่เป็นประจำทุกวัน ผู้ป่วยไม่สามารถงดอาหารกลุ่มข้าวแป้งได้ เพราะยังต้องการพลังงานในการดำรงชีวิตอยู่เสมอ เมื่อใดที่ผู้ป่วยได้รับคาร์โบไฮเดรตพวกนี้น้อยกว่า 150 กรัมต่อวัน จะทำให้ร่างกายปรับตัวมาใช้โปรตีนในร่างกาย เริ่มเกิดกระบวนการสลายกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้อฝ่ออ่อนแรง และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
ผู้ป่วยควรได้รับคาร์โบไฮเดรตกลุ่มข้าวแป้งเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทำงานอย่างสมดุล การพิจารณาเลือกแป้งที่รับประทานควรเลือกแป้งที่มีใยอาหารร่วมด้วย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ธัญพืช ขนมปัง เป็นต้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบินต่ำลงมากกว่าปกติ ให้หยุดการรับประทานธัญพืชก่อน แล้วหันกลับมารับประทานข้าวขาว จนกระทั่งระดับเม็ดเลือดแดงกลับสู่ภาวะปกติค่อยหันมารับประทานข้าวกล้องที่เป็นแหล่งของใยอาหารใหม่อีกครั้ง
ส่วนการได้รับกลุ่มน้ำตาล Oligosaccharide เช่น พวกลูกพรุน หรือใยอาหารโมเลกุลสั้นๆ พวกนี้จะเป็นประโยชน์ในการปรับสมดุลลำไส้ โดยจะเข้าไปเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายที่อยู่ประจำลำไส้ใหญ่ ช่วยการขับถ่ายและกำจัดสารก่อมะเร็งให้ไม่เข้าสู่ร่างกาย แต่เช่นเดียวกันเมื่อใดที่ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย หรือท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้มาก ไม่ควรได้รับใยอาหารดังกล่าว เพราะถึงแม้จะปรับสมดุลลำไส้ แต่ก็เป็นภาระให้ร่างกายย่อยยากกว่าอาหารชนิดอื่นซึ่งก็ส่งเสริมให้เกิดแก๊สได้
 
 
 
คาร์โบไฮเดรตกับโรคมะเร็ง

อาหารหลักของคนไทยที่มาตั้งแต่โบราณ คือ ข้าว ถ้ามาดูในองค์ประกอบของข้าวนั้นจะเห็นว่าเป็นสารพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานกับร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ผลไม้ จะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (Simple Sugar) ก่อน แล้วถูกดูดซึมเพื่อร่างกายนำไปเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานเพื่อการทำงาน คาร์โบไฮเดรตจึงเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย โดยการให้กลูโคสแก่เซลล์ต่างๆ นอกจากให้พลังงานแล้วยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น กาแลคโตส เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อประสาท น้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบของนม น้ำตาลไรโบส และดีออกไรโบส เป็นส่วนประกอบของกรดนิวคลีอิกซึ่งเป็นสารพันธุกรรม
ถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป ตับซึ่งเป็นอวัยวะสะสมไกลโคเจนจะสลายไกลโคเจนเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้ หรืออาจสร้างจากโปรตีนก็ได้ เรียกกระบวนการนี้ว่า Gluconeogenesis ตราบใดที่เรามีคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ ร่างกายจะเก็บโปรตีนไว้ใช้เพื่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ คาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสารอาหารที่ทำให้ร่างกายเก็บโปรตีนไว้ได้ (Spare Protien) ในทางกลับกันถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป กลูโคสมีปริมาณมากขึ้น ฮอร์โมนอินสุลินที่ช่วยในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ อาจไม่พอเพียง ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นโรคเบาหวาน
นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตยังช่วยในการเผาผลาญไขมัน (Fat Metabolism) ให้สมบูรณ์ โดยช่วยให้ Acetyl Co A ถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ถ้าไม่มีคาร์โบไฮเดรตแล้ว Acetyl Co A จะถูกสลายเป็นคีโทน (Ketone) ซึ่งเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
ในแต่ละวันคนเราควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตประมาณร้อยละ 55-60 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด เช่น ถ้าต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับ คือ ประมาณ 300 กรัม (2,000 x 0.6 = 1,200 แล้วหารด้วย 4) และควรได้รับคาร์โบไฮเดรตประเภทใยอาหารด้วยประมาณ 10-13 กรัม ต่อ 1,000 กิโลแคลอรี
ผู้ป่วยมะเร็งเป็นกลุ่มที่ต้องการพลังงานสูง ควรต้องได้รับการดูแลปรับเปลี่ยนพลังงานและสารอาหารให้เหมาะสม เพราะการที่ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ อีกทั้งร่างกายผู้ป่วยก็จะทรุดโทรม ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษา หรือไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อสู้กับมะเร็ง หากผู้ป่วยมะเร็งได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่สมส่วน ร่างกายจะใช้พลังงานจากสารอาหารตัวอื่นแทน ได้แก่ พวกไขมันและโปรตีน โดยร่างกายจะเลือกสลายกล้ามเนื้อออกมา ทำให้ร่างกายทำลายตัวเอง หรือเรียกว่าการกินตัวเอง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเกิดภาวะกล้ามเนื้อเหี่ยวฝ่อลีบลงอย่างเห็นได้ชัด จนสุดท้ายก็จะเข้าสู่ภาวะทุพโภชนาการในที่สุด

ประเภทของคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต เป็นสารประกอบของ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน คาร์โบไฮเดรตแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. Simple Carbohydrate ได้แก่ น้ำตาลที่มีขนาดโมเลกุลเล็กพวกโมโนแซคคาไรด์ เช่น กลูโคส ฟรุคโตส กาแลคโตส แลคโตส
2. Complex Carbohydrate หรือเรียกว่า โพลีแซคคาร์ไรด์ เป็นสารประกอบขนาดใหญ่ ประกอบด้วย หน่วยน้ำตาลโมโนแซคคาไรด์หลายร้อยหลายพันหน่วยปกติ จะไม่มีรสหวาน ได้แก่ แป้ง ไฟเบอร์ ใยอาหารที่พบในพืช เช่น เผือก มัน ข้าวโพด ส่วนในคนและสัตว์ คือ ไกลโคเจน



 
 
 
โปรตีนกับโรคมะเร็ง
โปรตีนและกรดอะมิโน
คำนี้มักมาคู่กันเสมอ ความจริงคือ โปรตีนคือกรดอะมิโนหลายๆ ตัวมารวมกันกลายเป็นสายโปรตีนขึ้น ดังนั้นกรดอะมิโนจึงเท่ากับโปรตีนนั่นเองแต่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ในร่างกายคนเราประกอบไปด้วยกรดอะมิโนมากมายเอามาสร้างเป็นกล้ามเนื้อ ฮอร์โมน โครงสร้างร่างกาย รวมไปถึงสารสื่อประสาท และระบบเม็ดเลือดทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

รูปแสดงถึงโครงสร้างของโปรตีนแบบต่างๆ
โดยลูกกลมๆ สีๆ คือ กรดอะมิโนแต่ละชนิดมาเรียงตัวกันเป็นสายโปรตีน

โปรตีนที่เรารับประทานกันแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ กรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acid) กับกรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-Essential Amino Acid) กรดอะมิโนจำเป็นหมายถึง ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ต้องได้รับจากอาหาร ส่วนกรดอะมิโนไม่จำเป็นนั้นร่างกายสามารถดึงเอาสารอื่นมาสร้างเป็นกรดอะมิโนชนิดนี้ได้ เช่น พวกน้ำตาลสามารถดึงเอามาสร้างได้เช่นเดียวกัน แต่ในสภาวะที่ร่างกายเรามีความเครียด บาดเจ็บ และเป็นมะเร็ง ...... กรดอะมิโนที่เคยสร้างได้เองกลับไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ ทำให้กรดอะมิโนที่เคยไม่ขาดก็ขาดได้ ตัวที่พบประจำได้แก่ กลูตามีน อาร์จีนีน ไทโรซีน ซีสตีอีน เป็นต้น ซึ่งกรดอะมิโนดังกล่าวนี้พบได้ตามกล้ามเนื้อปกติ เมื่อขาดจึงพบภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้กรดอะมิโนข้างต้นยังเป็นตัวสำคัญในการเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวพวกลิมโฟไซท์ (lymphocyte) อีกด้วย และกรดอะมิโนที่ชื่อว่า “อาร์จีนีน” ยังช่วยในการควบคุมสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย ความสมดุลนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สมดุลไนโตรเจนเสียไปจะทำให้ผู้ป่วยเกิดสารพิษคั่งค้าง มีอาการซึมตอบสนองได้ช้า

คุณรู้จัก กลูต้าไทโอนไหม
ผู้ป่วยมะเร็งหลายท่านคงพอรู้กันว่ากลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบัน และผู้ป่วยมะเร็งก็ทราบดีแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระเป็นตัวปกป้องร่างกายผู้ป่วยจากมะเร็งได้ ดังนั้นผู้ป่วยหลายท่านพยายามเสาะแสวงหากลูต้าไทโอนจากแหล่งอื่นๆ แบบยาเม็ด ยาฉีด มาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง แต่ความจริงแล้วคุณรู้หรือไม่ว่า กลูต้าไทโอนก็คือโปรตีน ที่ท่านหวาดกลัวกันมาโดยตลอดว่าจะทำให้มะเร็งโตนั่นแหละ เพราะกลูต้าไทโอนเป็นสารที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่ชื่อว่า กลูตามีน + ซีสทีอีน
กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่มีรายงานการวิจัยพบกันโดยตลอดว่าในผู้ป่วยมะเร็งระดับกลูต้าไทโอนจะลดลง (ในภาวะที่เครียดจะมีสารเหล่านี้ลดลง) เมื่อลดเราก็ต้องเพิ่ม แต่หากผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานโปรตีนเข้าไปเลย แล้วจะหาโปรตีนจากไหนกันเล่ามาสร้างสารที่มีค่าต่อผู้ป่วยเช่นนี้ ตอนนี้คงต้องเริ่มกลับมาทบทวนกันแล้วว่าถูกไหมที่ท่านจะอดรับประทานโปรตีนกันตลอดไป

สรุปหน้าที่สำคัญของโปรตีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
1.สร้างภูมิคุ้มกัน
2.รักษาบาดแผลในผู้ป่วยผ่าตัดให้แผลหายเร็วขึ้น
3.ลดการเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
4.ป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะ cancer cachexia (กล้ามเนื้อฝ่อลีบ)
5.สร้างสารต้านอนุมูลอิสระ

รับประทานโปรตีนแล้วมะเร็งโตหรือ
ในความจริงแล้วการรับประทานสิ่งใดก็ทำให้มะเร็งโตหมดแหละครับ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่เนื่องจากโปรตีนนั้นจะหมายมุ่งถึงเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ หากผู้ป่วยเลือกเนื้อสัตว์ไม่เป็นก็จะพบสารตกค้าง ไขมันที่แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเนื้อสัตว์ พวกนี้แหละคือตัวทำให้มะเร็งโตอย่างแท้จริง ถามว่าจะเลี่ยงไปเลยได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ควร เพราะถึงแม้ตามหลักชีวจิตที่หลายๆ ท่านปฏิบัติกัน ยังแนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์อาทิตย์ละครั้งเช่นกัน สาเหตุก็เพราะเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่สมบูรณ์ที่สุดนั่นเอง

เลือกรับประทานโปรตีนอย่างไร
จากข้างต้นคงได้ทราบถึงประโยชน์ของอะมิโนแล้วนะครับ แหล่งโปรตีนที่ควรเลือก คือ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์พวกเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันเยอะ อาทิ อกไก่ สันในไก่ เป็นต้น เราไม่แนะนำเนื้อแดงพวกเนื้อหมู เนื้อวัวให้ผู้บริโภค เพราะเนื้อดังกล่าวจะมีการตกค้างของ metmyoglobin อยู่ สารดังกล่าวจะไปรวมตัวกับน้ำดีในลำไส้ก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ผู้ป่วยยังสามารถเลือกรับประทานเนื้อแดงได้บ้างอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ครับ
ผู้ป่วยบางท่านรับประทานเนื้อสัตว์แล้วจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน นั่นไม่ใช่เพราะร่างกายเมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะปฏิเสธเนื้อสัตว์ แต่สาเหตุมาจากผู้ป่วยปฏิเสธเองครับ เพราะเมื่อเราไม่รับประทานอาหารใดนานๆ ร่างกายจะคิดว่าสิ่งนั้นไม่ใช่อาหารที่รับประทานได้ ทำให้รู้สึกถึงกลิ่นได้ดีกว่าคนปกติที่ได้รับประทานเป็นประจำ ดังนั้นการได้รับประทานเนื้อสัตว์ครั้งแรกของผู้ป่วยจะเกิดอาการคลื่นไส้ เหม็นเนื้อสัตว์ได้ ทางแก้คือลองลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงก่อนในช่วงแรก จากนั้นรับประทานเนื้อสัตว์พร้อมกับผักที่มีกลิ่นกลบกลิ่นคาวได้ เช่น ใบโหระพา ใบกระเพรา เป็นต้น
ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนได้ทุกคนหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ได้ครับ มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคไตร่วมด้วย กับผู้ที่มีภาวะมะเร็งตับที่ส่งผลต่อสมอง โดยผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องดูแลเรื่องไตและตับ ต้องลงในรายละเอียดเป็นพิเศษว่าโปรตีนตัวไหนรับประทานได้ ตัวไหนอนุญาตให้ปริมาณเท่าไหร่ ต้องพิจารณาหลายปัจจัยมาประกอบ ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาและดูแลโดยนักกำหนดอาหารอย่างเคร่งครัดครับ
นมดื่มได้ไหม นมเป็นหมวดโปรตีนที่เป็นแหล่งของกลูตามีนตามธรรมชาติ แนะนำให้ดื่มได้เลยครับ แต่คงต้องเป็นกลุ่มนมพร่องมันเนย และหากอยากได้ประโยชน์จากการดื่มนมมากที่สุด แนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์ชงดื่มแทนนมในบางมื้ออาหารก็ได้ โดยจะเลือกอาหารทางการแพทย์ชนิดใดควรปรึกษานักกำหนดอาหารก่อน เพราะอาหารทางการแพทย์แต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละโรคเท่านั้น มิใช่สามารถรับประทานทดแทนกันได้ทุกตัว
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น