Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
 
 


มะเร็งปากมดลูก




มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย

เป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทย สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ Human papilloma virus หรือหูดหงอนไก่ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็จะพัฒนาก่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสตรีควรได้รับการตรวจเพื่อสืบค้นหามะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป

มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และการฝังแร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด ฉายแสง รวมไปถึงเคมีบำบัด มักส่งผลให้การบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการมากขึ้น ซึ่งหากเกิดอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการดูแลรักษาแล้ว จะทำให้เกิดภาวะซีด เม็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น การดำเนินของโรคแย่ลง

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้ป่วย หากส่งเสริมโภชนาการที่ดีและถูกต้องจะทำให้อาการข้างเคียงจากการรักษาลดน้อยลง และช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย


โรคมะเร็งปากมดลูก

หลักโภชนบำบัด :


ข้าวแป้ง
ผู้ป่วยสามารถรับประทานข้าวแป้งได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน โดยแบ่งรับประทานให้ครบทุกมื้อ อาจเน้นไปที่ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ขนมปัง บางมื้อที่เบื่อรับประทานข้าวอาจเปลี่ยนเป็นขนมปัง โดยขนมปัง 1 แผ่นจะให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าว 1 ทัพพี หรืออาจเปลี่ยนเป็นก๋วยเตี๋ยว หรือวุ้นเส้นก็สามารถเลือกทดแทนข้าวได้เช่นเดียวกัน

เนื้อสัตว์
กลุ่มเนื้อสัตว์เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเนื้อสัตว์มักมีไขมันมากเกินไป และมักจะอยู่ในรูปของไขมันแฝง ควรจะเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป โดยใน 1 วัน ควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ป่วยหนัก 50 กิโลกรัมควรได้รับโปรตีน 75 กรัม ต่อวัน เป็นต้น
กลุ่มเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้ คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อปลา, สันในไก่, อกไก่ เป็นต้น กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยง คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ได้แก่ หมูบด, เนื้อสะโพก, ไส้กรอก เป็นต้น

ไขมัน
ควรลดการบริโภคไขมันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่คงไม่ถึงกับต้องงดรับประทานไขมันทุกชนิดไปเลย ควรได้รับไขมัน 15-20% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน งดเว้นน้ำมันทอดซ้ำเนื่องจากอาหารเหล่านี้จะมี Polyaromatic hydrocarbon (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอนุมูลอิสระจำนวนมาก



ผลไม้



ผลไม

ควรเลือกชนิดมีเส้นใยสูง เช่น พวกแอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีสีสดเพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่พอเพียง แต่อาจพบได้ในบางกรณีที่รับประทานผลไม้แล้วเกิดอาการท้องอืด ถ่ายลำบาก ซึ่งหากผู้ป่วยรับประทานผลไม้แล้วรู้สึกเช่นนี้ แสดงว่าผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ใยอาหารดูดซึมสารหล่อลื่นในลำไส้แทน ดังนั้นเมื่อรับประทานเส้นใยสูงก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย

ผัก
สามารถรับประทานผักเส้นใยสูงได้เกือบทุกชนิด โดยคนเราต้องการอาหารเส้นใยมากถึงวันละ 20 กรัม เส้นใยมีประโยชน์ในการไปจับกับสารก่อมะเร็ง carcinogen แล้วขับออกทางอุจจาระได้ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องอืดร่วมด้วยอาจต้องลดการรับประทานผักลง

 
 
 
 


มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะมีสาเหตุเบื้องต้นจากเพศสัมพันธ์
ปากมดลูกคือบริเวณอวัยวะที่อยู่ถัดจากช่องคลอดเข้าไปด้านใน ก่อนที่จะเข้าสู่โพรงมดลูก
บริเวณปากมดลูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก


เนื้องอก เนื้อร้าย (มะเร็ง)
เนื้อเยื่อปกติของคนเราจะเติบโตโดยมีการควบคุม ของร่างกาย (ไม่ให้โตเกินไป)
เนื้องอกคือเนื้อเยื่อที่ต่างจากเนื้อปกติ เติบโตนอก เหนือการควบคุมของร่างกาย มี ๓ ชนิดคือ เนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง และเนื้องอกชนิดกึ่งดีกึ่งร้าย
มะเร็งมีสิทธิ์ที่จะเกิดในเนื้อเยื่ออวัยวะใดของร่าง-กายก็ได้ ถ้าเกิดที่ปากมดลูกก็เรียกว่ามะเร็งปากมดลูก
มะเร็งเป็นเนื้อร้ายที่มีความสามารถในการแพร่กระจายและลุกลามได้
จะเห็นว่าเนื้อเยื่อปกติหรือเนื้องอกธรรมดา ไม่มีความสามารถในการลุกลาม แพร่กระจายไม่ได้ ซึ่งต่างจากมะเร็งที่สามารถแพร่กระจายและลุกลามได้ เช่น เป็นมะเร็งที่ปากมดลูก ก็ลุกลามไปที่ปอด ตับ ที่อื่นๆ อีก


มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร
ปัจจุบันพบแล้วว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสเอชพีวี (HPV - Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด
ไวรัสเอชพีวีติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็น การสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ และเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกปกติมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ในที่สุดก็จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ถ้าเผื่อทิ้งไว้ไม่ได้ตรวจเจอเสียก่อน ใช้เวลาเฉลี่ยโดยประมาณ ๕-๑๐ ปี

ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก จะไม่มีอาการ ถึงแม้ว่า จะเป็นมะเร็งแล้วก็ตาม ถ้าเป็นมะเร็งระยะต้นๆ ก็ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้หญิงจะต้องรับการตรวจภายในประจำปี ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการ เพราะบางทีอาจจะมีความผิดปกติแล้ว แต่ไม่ทราบคือถ้าตรวจเจอระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกเสียก่อน ชื่อก็บอกว่าระยะก่อนมะเร็ง คือไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าทิ้งไว้จะเป็นมะเร็ง ถ้าตรวจพบระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกเสียก่อน สามารถรักษาหาย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกทีหลัง


ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกมีหลายอย่าง ได้แก่
๑. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ช่วงวัยรุ่น)
๒. มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน
๓. สูบบุหรี่
๔. มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
๕. มีคู่เพศสัมพันธ์ หรือมีสามีซึ่งเคยมีภรรยาคนเก่าเป็นมะเร็งปากมดลูก


วัยใดบ้างมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก
จากสถิติพบว่าช่วงอายุที่สตรีเป็นมะเร็งปากมดลูก มากที่สุดคือ ช่วงอายุระหว่าง ๔๐-๕๐ ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุน้อยกว่า ๔๐ หรือมากกว่า ๕๐ จะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก

วัย ๔๐-๕๐ ปี เป็นวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ถ้าเจ็บป่วยก็จะมีผลกับครอบครัวด้วย สำหรับโรงพยาบาลรามาธิบดีพบผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกอายุน้อยที่สุดคือ ๑๖ ปี ขณะที่อายุมาก กว่า ๖๐-๗๐ ปีก็พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน


อาการแสดงของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
ปากมดลูกเป็นอวัยวะที่ติดต่อกับภายนอก โดยผ่านทางช่องคลอด และเป็นอวัยวะที่แพทย์สามารถใส่เครื่องมือเข้าไปเห็นได้ อาการที่พบของมะเร็งปากมดลูกก็คือ มีตกขาว ผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้าปากมดลูกเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะปวดได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาทอาจจะปวดหลังได้

ถ้าเป็นมากกว่านั้น เช่น มะเร็งปากมดลูกลุกลามและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปที่ปอด ก็จะมีอาการแสดงของอวัยวะที่ลุกลามไป เช่น ไอมีเลือดปน
ถ้ามะเร็งลุกลามไปที่กระดูกก็จะปวดกระดูกบริเวณที่เป็น การลุกลามไปที่อวัยวะอื่นของมะเร็งคือความประพฤติอย่างหนึ่งของมะเร็ง (ลุกลามและแพร่กระจาย) จากจุดกำเนิดของมะเร็ง (ปากมดลูก) ไปที่อวัยวะอื่นอีกจุดหนึ่งหรือหลายจุด

ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าเป็น "ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก"
หลังจากได้รับไวรัสเอชพีวีแล้ว ปากมดลูกไม่ได้เปลี่ยนเป็นมะเร็งทันทีทันใด
ขั้นแรกกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกก่อน คือประมาณ ๕-๑๐ ปีถึงจะกลายเป็นมะเร็ง ผู้หญิงที่เป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะรู้ว่าเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกก็คือการตรวจคัดกรองปากมดลูกประจำปี ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการ และหากพบความผิดปกติ แพทย์ก็จะทราบและรักษาได้ทันที

ถ้าผ่านขั้นตอนระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกและกลายเป็นมะเร็งไปแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการเพราะเป็นน้อยๆ แต่มารับการตรวจภายใน แพทย์ก็เจอมะเร็งได้
สำหรับคนที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองและรอให้มีอาการ จึงจะมาพบแพทย์ ก็อาจมีอาการที่ปรากฏ เช่น ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่น หรืออาการเลือดออกที่จะพบก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะอยู่เฉยๆ เลือดอาจจะไม่ออก แต่มีการกระทบกระเทือนจากเพศสัมพันธ์ก็จะมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้

บางคนมีอาการมากกว่านั้นก็คือ อยู่เฉยๆ ก็มีเลือดออก อาการเหล่านี้คืออาการที่แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติ ผู้หญิงก็จะมาพบแพทย์ แพทย์ตรวจพบความผิดปกติ พบก้อนหรือรอยโรคที่ปากมดลูก หลังจากนั้นจะต้องตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ มาตรวจ ถ้าผลตรวจชิ้นเนื้อยืนยันก็จะวินิจฉัยได้แน่นอนว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก


วัยใดต้องเริ่มไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสเอชพีวีที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นวัยใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจะต้องตรวจคัดกรอง เช่น วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ก็จะต้องเริ่มตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี

ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย แนะนำให้ตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี เมื่ออายุ ๓๕ ปีไปแล้ว
การตรวจทั่วๆ ไปก็คือ จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจภายใน โดยใส่เครื่องมือเข้าไป และป้ายเซลล์จากปากมดลูกออกมาทำการตรวจคัดกรอง
ผู้หญิงส่วนหนึ่ง "อาย" ไม่ยอมไปตรวจคดกรองมะเร็งปากมดลูก

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแนะนำให้ผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอดด้วยตนเอง และ นอน ๑ คืน ทางทีมงานวิจัยมอบอุปกรณ์ ๒ อย่างคือ แผ่นแก้ว (สไลด์) และน้ำยาแช่ พร้อมกับแนะนำให้ผู้หญิงตื่นเช้ามาดึงผ้าอนามัยออก ป้ายบนแผ่นแก้วและนำแผ่นแก้วแช่น้ำยา ปิดขวดและนำส่งทีมงานเพื่อย้อมพิเศษและส่องกล้องจุลทรรศน์ พบว่าวิธีนี้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และขจัดปัญหาเรื่อง "ความอาย" ได้

ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก มี ๒ ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกคือ
๑. ป้องกันแบบปฐมภูมิ
นั่นคือการป้องกันไม่ให้ติดไวรัสเอชพีวี
ณ วันนี้มีวัคซีนไวรัสเอชพีวีสำหรับป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ป้องกันได้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น
๒. ป้องกันแบบทุติยภูมิ

จะต้องตรวจให้เจอตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง โชคดีที่ธรรมชาติการเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องผ่านระยะนี้ก่อน ซึ่งใช้เวลานาน (มะเร็งแต่ละชนิดมีระยะก่อนเป็นมะเร็งยาว-สั้นไม่เท่ากัน) ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกคือ ๕-๑๐ ปี เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการตรวจคัดกรองได้อย่างดี การตรวจพบระยะก่อนมะเร็งซึ่งเป็นโรคเฉพาะที่ง่ายต่อการรักษา คือรักษาโดยทำลายเฉพาะที่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดด้วย มีด ห่วงลวดไฟฟ้า หรือจี้ด้วยความ เย็น (ทำลายเฉพาะที่) ทำให้หายไปและไม่กลายเป็นมะเร็งในอนาคต


รู้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วจะต้องทำอย่างไร
ทำใจยอมรับความจริง และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ต้องเข้าใจว่าโรคมะเร็งปากมดลูกรักษาได้ โอกาส หายมี ถึงแม้จะเป็นระยะที่ค่อนข้างมากแล้วก็ตาม บางรายหายไปมากกว่า ๑๐ ปีก็ไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำอีก
ข้อดีของการรักษามะเร็งปากมดลูกคือ
๑. คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดอาการที่เป็น
๒. มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่รักษา
ถ้าเป็นมะเร็งแล้วไม่รักษา โดยธรรมชาติของมะเร็ง จะลุกลามและแพร่กระจาย ในกรณีที่รักษาไม่หายขาด ก็จะยืดระยะรอดชีพให้ยาวนานออกไปอีก เช่น จาก ๒ ปี กลายเป็น ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี การได้รับรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นข่าวร้าย และการรับรู้ของคนทั่วไปกับมะเร็งว่าเป็นโรคร้าย เป็นแล้วต้องตายแน่ๆ แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ มะเร็งบางชนิดรักษาหาย และป้องกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกรักษาอย่างไร
การรักษามะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การ ผ่าตัด การฉายแสง ใช้ยาเคมีบำบัด หรือหลายวิธีร่วมกัน
แล้วอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด
ตรงนี้ขึ้นกับระยะของโรคในแต่ละคน ว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ ๑ เป็นน้อยๆ วิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คือการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นระยะที่ ๒ ระยะที่ ๓ การผ่าตัดจะไม่ได้ผล และจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์จะใช้การฉายแสงร่วมกับเคมีบำบัด แพทย์ผู้รักษาจะบอกได้ว่าแต่ละคนจะใช้วิธีใดดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน และจะนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็ไม่ได้


การรอด การตาย ของมะเร็งปากมดลูก เป็นอย่างไร
จากภาพรวมของประเทศพบว่า โอกาสเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นทันที ขึ้นกับระยะคือ ระยะน้อยๆ โอกาสหายมีมากกว่า แต่ถ้าเป็นระยะมากๆ คือ ระยะที่ ๔ โอกาสหายน้อย
ที่ผ่านมาภาพรวมของประทศไทยก็คือ พบระยะที่ ๑ น้อย แต่พบระยะที่ ๒ มาก ทำให้อัตราการรอดชีวิตไม่ดีเท่าไหร่

ถ้าภาพรวมเป็นระยะที่ ๑ มาก โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกราย ใหม่ประมาณ ๖,๐๐๐ คนต่อปี เสียชีวิตเกือบร้อยละ ๕๐ คือราวๆ เกือบ ๓,๐๐๐ คนต่อปี คิดกันง่ายๆ คือ คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ ๗ คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นมะเร็งนรีเวชที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากที่สุด
ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้างผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดได้ (ผ่าเพียง ๑ ครั้ง) ได้แก่ การตกเลือด การติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง
การฉายแสง (ระยะเวลา ๑-๒ เดือน) ผลข้างเคียง คือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย
ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในหญิงไทยมากอันดับ ๑ แต่ป้องกันได้ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง
การป้องกันสำคัญที่สุด รองลงมาก็คือการดูแลสุขภาพตนเอง เมื่อเป็นแล้วไม่ต้องตกใจ ให้ตระหนักว่า "มะเร็งปากมดลูก รักษาได้ โอกาสหายมี" และเป็นความจริงด้วย
 
 
 
 
 
 
มนู...สู้มะเร็ง
การให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหาร จัดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ควรละเลย นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ เลขามูลนิธิเพื่อพัฒนาแพทย์ทางเลือกเคยกล่าวไว้ว่า แนวคิดในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบแพทย์ทางเลือกนั้น เกิดจากพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การกระตุ้นให้ร่างกายเกิดสภาวะที่จะรักษาตนเอง (Homeostasis), การดูแลสุขภาพในลักษณะองค์รวม (Holistic Care) และการสร้างสภาวะที่สมดุลให้กับร่างกาย (Balancing Status) รวมทั้งการเอาใจใส่กับการบริโภค ซึ่งสารอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สารอาหารต้องห้ามที่จะเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และสารอาหารที่จะทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตัวลง

ในปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แนะนำแนวทาง ในการจัดโภชนาการให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายรูปแบบ ทั้งแมคโครไบโอติกส์ (macrobiotic), ชีวจิต, มังสวิรัติ หรืออาหารเจ ซึ่งโดยมากมักจะมีแนวคิดจากหลักการที่ใกล้เคียงกัน โดยคุณหมอจักรกฤษณ์ ได้สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้

อาหารปลอดสารพิษ ซึ่งบางประเภทนั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) รวมทั้งอาหารที่เกิดจากการปนเปื้อนสารพิษอื่นๆ
อาหารที่ปลอดสารเคมีและสารปนเปื้อนอื่นๆ
อาหารที่มีความสมดุลและเป็นกลาง
การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

การเกิดโรคทั้งหลายในมนุษย์ปัจจุบันนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการที่ร่างกายเกิดการเสียความสมดุล ระหว่างกลไกการทำลายกับกลไกการป้องกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมขึ้น ดังนั้น โรคความเสื่อม โรคความดัน หัวใจ หลอดเลือด ปวดข้อ และแม้กระทั่งมะเร็ง ล้วนแล้วแต่มาจากการเสียสมดุลของร่างกายทั้งสิ้น โดยมีปัจจัยเสริมจากลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละคนว่ามีความบกพร่องมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม หลักการง่ายๆ ในการดูแลโภชนาการสำหรับผู้ป่วยนั้นจะประกอบด้วย

เลือกรับประทานอาหารสดที่ปรุงสุกใหม่ๆ
หลีกเลี่ยงอาหารที่เกิดจากกระบวนการการผลิตในระบบอุตสาหกรรม เช่น น้ำตาล กาเฟอีน
เลือกบริโภคอาหารที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ
เลือกรับประทานอาหารที่มีความสมดุลของรสชาติและส่วนประกอบ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีสารอาหารที่คุณหมอจักรกฤษณ์ แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงได้แก่ น้ำตาล, อาหารเป็นสารก่อมะเร็ง, ยาปฏิชีวนะ, ฮอร์โมน, น้ำมันทอด, อาหารจำพวกนมและผลิตภัณฑ์ของนม โดยอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

มีปริมาณเอนไซม์ที่เพียงพอ
วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน
อาหารที่ประกอบด้วยสารที่มีส่วนในการทำลายเซลล์มะเร็ง เช่น
สมุนไพร สารสกัดต่างๆ ได้แก่ Arabinoxylan, Beta D
Glucan, Glutathion, Ganoderic acid

เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติของอาหารที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งนั้น ผักผลไม้ดูจะเป็นอาหารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวค่อนข้างครบถ้วน เพราะพืชผักผลไม้นั้นจะอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และสารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานอาหารที่หลากหลายในแต่ละวัน สามารถต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ ดร. พรทิพา พิชา ได้สรุปคุณประโยชน์ของผักและผลไม้ที่มีงานวิจัย ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบำบัดหรือป้องกันโรคมะเร็งดังนี้

ผักและผลไม้ ประโยชน์
อโวคาโด ต้านมะเร็งตับ
บร็อกโคลี่ ลดการเกิดมะเร็งเต้านม
กะหล่ำปลี ป้องกันมะเร็ง
ต้นกะหล่ำดอก ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก ลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกในหนูทดลอง
แครอท ช่วยต้านมะเร็งปอด มะเร็งลำคอ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่มีคำเตือนว่า ไม่ควรรับประทานเป็นสารสกัด เพราะมีรายงานว่า ก่อให้เกิดมะเร็งได้
พริก ลดการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
ผักจำพวกกะหล่ำ ช่วยต้านมะเร็งต่อมลูกหมากและอื่นๆ
มะเดื่อหวาน ฆ่าแบคทีเรีย และทำให้เซลล์มะเร็งลดลง
กระเทียม กระเทียมช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต่อสู้กับมะเร็ง ทำให้การเจริญเติบโตของมะเร็งที่กระเพาะอาหารช้าลง
ผลไม้จำพวกส้ม ช่วยกวาดล้างสารมะเร็ง และยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม
องุ่น ป้องกันมะเร็ง
ขิง ช่วยป้องกันมะเร็ง
เห็ด เพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
เห็ดหลินจือ ช่วยต้านมะเร็ง และเป็นยาอายุวัฒนะ
ถั่ว มีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดการเกิดมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก
ส้ม/มะนาว ป้องกันการเกิดมะเร็ง
มะละกอ ยับยั้งการเกิดมะเร็งปากมดลูก
สาหร่ายทะเล ลดการเกิดมะเร็งเต้านม มีสารป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็ง
ชา ต้านมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน
ถั่วเหลือง ลดการเกิดมะเร็งเต้านม และต่อมลูกหมาก
มะเขือเทศ ช่วยลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม
ขมิ้นชัน ป้องกันมะเร็งลำไส้/ลำไส้ใหญ่

 
 
ที่มา :: นิตยสาร Alternative Medicine
 
 
 
 
 
 

อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง



อาหารนั้นสำคัญไฉน ในผู้ป่วยมะเร็ง



“มะเร็ง” เพชฌฆาตร้ายอันดับหนึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจนใครๆ ก็ขยาดกลัว แต่คนเป็นโรคมะเร็งไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ทุกคน หากได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างถูกแบบแผนและดำเนินวิถีชีวิตอย่างถูกหลักโดยเฉพาะในด้านภาวะโภชนาการ ด้วยเหตุนี้มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย องค์กรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง”

โดยมี นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ อุปนายกฯ และ พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โภชนาการ เข้าร่วมให้ความรู้ ที่ห้องมณฑาทิพย์ 4 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยชนิดของมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี รองลงมาคือมะเร็งปอด ส่วนเพศหญิงคือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งคือ การรับประทานอาหาร เพราะในการรักษาแต่ละวิธีจะทำให้ร่างกายเกิดผลข้างเคียง

ถ้าร่างกายขาดสารอาหารหรือมีโภชนาการที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า และทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง มีคนไข้โรคมะเร็งหลายคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะทนการรักษาไม่ดีและติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะรักษาไม่ได้ประสิทธิผล ขณะที่คนไข้อีกหลายคนรับประทานอาหารเต็มที่ จนร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้รักษาได้ผลดี

ด้วยเหตุนี้เรื่องของภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ย่อมส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีประสิทธิผลดีอย่างชัดเจน โดย พญ.สิรกานต์ เปิดเผยว่า การรักษาโรคมะเร็งจะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีโภชนาการที่ดี ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้ดี ย่อมสามารถต่อสู้กับอาการข้างเคียงจากการรักษา และช่วยให้รับมือกับปริมาณยาบางตัวในระดับสูงๆ ได้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด เคมีบำบัด หรือฉายรังสีมา ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนในการรักษาเนื้อเยื่อในร่างกายและต่อสู้กับการติดเชื้ออักเสบ ดังนั้นหากขาดโปรตีน ร่างกายจะใช้เวลานานมากกว่าเพื่อจะฟื้นตัวจากโรคภัยไข้เจ็บ

“สำหรับอาหารที่ให้โปรตีนนั้นได้มาจากพืชและสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเปลือกแข็ง (nuts) ถั่วฝักแห้ง (dried beans) ถั่วฝักเมล็ดกลม หรือพี (peas) ถั่วเมล็ดแบน (lentils) เลนทิลส์ และอาหารจากเต้าหู้ ต้องเน้นว่าถ้าให้อาหารโปรตีนสูง คนไข้ต้องได้รับพลังงานทั้งวันที่เพียงพอก่อน โปรตีนถึงจะนำไปเสริมสร้างเซลล์ส่วนที่สึกหรอซึ่งอาจเป็นผลของการรักษาได้

ส่วนที่มีผู้เข้าใจว่าโปรตีนที่มาจากสัตว์ไม่ดีนั้น หมอขอแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้ เพราะโปรตีนจากสัตว์มีคุณภาพดี ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น ส่วนโปรตีนจากพืชมีแง่ดี คือ ไม่มีไขมันอิ่มตัว ผู้ป่วยจึงควรกินโปรตีนให้ครบถ้วนทั้ง 2 อย่างในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารอาหารที่สมบูรณ์

ส่วนคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งให้พลังงานหลักสำหรับร่างกาย แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดีที่สุด คือผลไม้ ผัก และโฮลเกรน หรือธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย ไฟเบอร์ และไฟโตทูเทรียนทส์ สำหรับเซลล์ของร่างกายด้วย นอกจากนี้ไขมันก็มีบทบาทที่สำคัญ ไขมันและน้ำมันผลิตจากกรดไขมันและเป็นแหล่งที่ให้พลังงานต่อร่างกายอย่างเข้มข้น

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจและระดับคอเลสเตอรอลสูง ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วพีนัท น้ำมันดอกทานตะวัน สุดท้ายคือ ดื่มน้ำให้เพียงพอด้วย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โภชนาการให้คำแนะนำ

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็ง ก็สามารเข้าไปหาดูได้ที่เว็บไซต์ของทางสมาคมที่ www.tsco.or.th
 
 
 
 
 
ที่มา :: http://www.komchadluek.net/
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น