Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

10 อาหารที่จะทำให้คุณยิ่งสวย

10 อาหารที่จะทำให้คุณยิ่งสวย
อาหารเพื่อสุขภาพ



10 อาหารที่จะทำให้คุณยิ่งสวย (Lisa)

 
 
อาหาร 10 อย่างที่จะทำให้คุณยิ่งสวยมากขึ้นกว่าเดิม

 
 
1. ไก่ มันช่วยร่างกายสร้างเคราตินที่ทำให้ผมสวย

 
2. แซลมอน มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ทำให้ผิวหนังและผมสุขภาพดี

 
3. สตรอว์เบอร์รี อุดมด้วยวิตามินซี ที่มีอำนาจในการต้านริ้วรอย

 
4. มะเขือเทศ ไลโคปีนในมะเขือเทศช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ลูทินช่วยให้ความชุ่มชื้น

 
5. หอยนางรม สังกะสีช่วยให้ผมยาวและอาจช่วยป้องกันการขาดร่วง

 
6. น้ำ ดีที่สุดในการให้ความชุ่มชื้นสำหรับทุกระบบของร่างกาย

 
7. โยเกิร์ตไขมันต่ำ แคลเซียมมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง

 
8. ช็อกโกแลตดำ มีฟลาโวนอยด์ที่ช่วยต่อสู้ความเสียหายของผิวจากอนุมูลอิสระ

 
9. ชาเขียว มีแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ช่วยลดความเสียหายของผิวเนื่องจากสภาพแวดล้อม

 
10. อะโวคาโด มีโฟเลตสูงที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างเซลล์
 
 
 
 
 
 
ที่มา ::
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ช่วยด้วย ! ผมร่วงหลังคลอด

ช่วยด้วย ! ผมร่วงหลังคลอด
ผมร่วงหลังคลอด

 
 
ช่วยด้วย ! ผมร่วงหลังคลอด (modernmom)

อาการผมร่วงหลังคลอดลูก ทำให้คุณแม่หลายคนกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะบางคนร่วงทีเยอะมากจนผมบาง แต่อาการผมร่วงนี้จะอยู่กับคุณแม่มือใหม่ เพียงชั่วคราวเท่านั้น เรามาหาทางรับมือช่วงที่ผมร่วงกันดีกว่าค่ะ

 


 
ฮอร์โมนเปลี่ยน ทำผมร่วง
        
90 เปอร์เซ็นต์ ของคุณแม่หลังคลอดมักมีอาการผมร่วงตามมา แม้ว่าผมของคนเราปกติ จะร่วงวันละประมาณ 100 เส้นอยู่แล้วก็ตาม แต่ในคุณแม่หลังคลอดนั้นพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่วง 400-500 เส้นต่อวันนั้นเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และเพิ่มปริมาณรากฝอยเล็ก ๆ ให้แก่เส้นผมลดลงอย่างรวดเร็ว การสร้างรากผมก็ลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

เพราะฉะนั้น รากผมของคุณแม่หลังคลอดจึงเกิดการสลายมากกว่าการสร้าง และเกิดภาวะผมร่วงและบางลงเรื่อย ๆ โดยลักษณะของผมร่วงหลังคลอดนั้น เส้นผมจะร่วงกระจายไปทั่วบริเวณหนังศีรษะ แต่จะมีเส้นผมบาง ๆ เหลืออยู่ค่ะ

ส่วนระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคน บางคนร่วงมาก บางคนร่วงน้อย ไม่สามารถบอกได้ คุณแม่หลายคนจะมีอาการผมร่วงหลังคลอดเกิดขึ้นเมื่อลูกอายุ 3 เดือน แต่ผมเส้นใหม่จะขึ้นมาแทนที่ และกลับสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 6-12 เดือนหลังคลอดค่ะ

 
 

รับมือผมร่วงหลังคลอด
 
ผมร่วงหลังคลอดก็เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ คุณแม่คนไหนที่ไม่ต้องเผชิญก็สบายใจเปราะหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ผมร่วงแล้วล่ะก็ อย่ามามัวกังวลใจอยู่เลยค่ะ เรามาหาวิธีพรางตาผู้คนที่ต้องพบเจอกันดีกว่า โดยเฉพาะคุณแม่ทำงาน วิธีนี้ใช้ได้ผลแน่นอน นั่นก็คือ "การปรับเปลี่ยนทรงผม" ค่ะ
 
 

ตัดผมให้สั้นเปลี่ยนลุค
 
คุณแม่ที่เคยผมยาวถึงเวลาที่ต้องปรับลุคกันสักหน่อยแล้วล่ะค่ะ เพราะเมื่อผมบางลง การไว้ผมยาวไม่ช่วยทำให้ผมดูเยอะขึ้น แต่กลับกัน ผมที่ยาวมาก ๆ จะหนักและรั้งให้ผมลีบยิ่งกว่าเดิม มิหนำซ้ำยังพันกันง่าย และทำให้ผมร่วงเยอะขึ้น
ทางแก้ก็ง่าย ๆ ค่ะ ตัดผมสั้นกันดีกว่า เพราะยิ่งผมสั้นก็ยิ่งพองตัว แต่ถ้าไม่อยากสั้นมาก ก็อาจดัดปลายให้ดูมีเนื้อผมหน่อย หรือสไลด์ให้ผมเป็นเลเยอร์เพื่อให้ง่ายต่อการเซตค่ะ นอกจากนั้นอาจจะทำสีผมที่มากกว่า 1 สี จะทำให้ผมมีมิติและหลอกตาได้ว่าผมหนา
 
 

ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมก็ช่วยได้


แชมพูประเภทโวลุ่ม หรือสำหรับผมดัด จะช่วยให้ผมพองตัวมีโวลุ่ม สปริงผมชัดขึ้น และหนังศีรษะเกิดความมันช้าลง


ยาบำรุงรากผม อันนี้จะเป็นตัวเฉพาะ สำหรับคนที่ผมบาง และผมลีบแบน แต่ไม่ใช่ครีมนวดนะคะ
 
Styling ที่เขียนแนบว่า Volume ใช้บริเวณโคนผม เพื่อให้ผมยกตัว จะเห็นผลชัดมากกับผมซอยสั้น และเส้นเล็กลีบแบน ควรเลือกใช้สเปรย์น้ำจะดีกว่ามูส เพราะมีสารเคมีที่ระคายเคืองน้อยกว่า
 
 
เซตผมเพิ่มความหนา
        
1.เป่าผมยกโคน หลังจากสระผมเสร็จ เช็ดผมอย่างเบามือให้พอหมาด ๆ เพราะผมที่เปียกจะมีโอกาสหลุดร่วงได้ง่ายมาก ฉีด Volumizer แล้วก็ใช้ลมอุ่นเป่าผมสวนโคนขึ้นไปจนแห้ง แล้วเป่าทับด้วยลมเย็นเพื่อเปิดเกล็ดผม และผ่อนคลายหนังศีรษะอีกรอบ

 
2.Styling ฉีกสเปรย์ Styling แล้วก็ใช้มือขยำจนทั่วกัน ก่อนที่จะใช้มือแต่งทรงอีกที

 
3.Fixing ฉีดสเปรย์ฝุ่นแข็งแบบบาง ๆ ทับทั้งทรง ปล่อยแห้ง แล้วฉีดอีกรอบจะทำให้ทรงผมอยู่ได้ทั้งวัน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ วิธีการง่าย ๆ ที่ไม่ยุ่งยากแบบนี้ รับรองว่าช่วยพลางผมที่บางลงจากผมร่วงหลังคลอดของคุณแม่ได้แน่นอน แถมยังดูดีมีสไตล์ เหมาะสำหรับคุณแม่ Modern Mom อีกด้วย ไม่แน่นะคะ แม้ว่าผมจะกลับมาหนาเหมือนเดิมแล้วแต่คุณแม่อาจจะติดใจผมสั้นไปเลยก็ได้

 
 
Modern Mom’s Experience

 
วิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันการรักษาผมร่วงทำได้โดยการรักษาความสะอาดของเส้นผม หนังศีรษะ และใช้ยาบำรุงผม หลีกเลี่ยงการนวดหนังศีรษะ หรือหวีผมอย่างรุนแรง แต่ถ้าคุณกังวลใจมากหรืออาการรุนแรงไม่ดีขึ้น ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจดูว่ามีสาเหตุอื่น ที่อาจทำให้ผมร่วงร่วมด้วยหรือไม่

 
 
ต้องทำใจค่ะ เปลี่ยนทรงผม ตัดผมสั้น เป็นทรงที่ดูแลน้อย ไม่ต้องหวีผมบ่อย เพราะการหวีผมหรือแปรงผมแรงและบ่อย จะทำให้ผมร่วงมากขึ้น

แม่จอย-ทองจันทร์ จันทร

 
 
หวีผมให้น้อยลง และ 2-3 วันค่อยสระผม ปล่อยให้ร่วงสักพัก ก็หยุดไปเองค่ะ แล้วก็ขึ้นใหม่เยอะกว่าเดิมอีก แต่คนโบราณเขาบอกว่าให้กลั้นใจตัดผมนิดหนึ่งถือเป็นเคล็ด เราก็ทำงาน รอดูว่าจะช่วยได้หรือเปล่า

แม่เอ๋-นิศานต์นิษฐ์ ดำรงชีพ

 
 
ช่วงหลังคลอดผมร่วงแค่เดือนเดียว ก็กลับมาเป็นปกติ เน้นกินอาหารที่บำรุงเส้นผม ห้ามเครียดด้วยค่ะ ไม่นานผมก็กลับมาดกดำเหมือนตอนก่อนคลอดค่ะ

แม่ดาว-ระพีพร ตันตราภิรมย์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา :: Vol.17 No.204 ตุลาคม 2555
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ความเสี่ยง! เมื่อลูกในท้องตัวใหญ่เกินเกณฑ์

ความเสี่ยง! เมื่อลูกในท้องตัวใหญ่เกินเกณฑ์

ตั้งครรภ์

ความเสี่ยง! เมื่อลูกในท้องตัวใหญ่เกินเกณฑ์ (รักลูก)

        
 
 
เรามักได้ยินใคร ๆ บอกเสมอว่ากินเยอะ ๆ ลูกในท้องจะได้ตัวโต ๆ แต่รู้หรือเปล่าคะว่า ลูกในท้องตัวโตก็สร้างปัญหาให้เหมือนกัน โดยเฉพาะลูกที่น้ำหนักเยอะแต่ไม่แข็งแรง เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวคุณแม่เองและลูกในท้องด้วยค่ะ

รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ อธิบายถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่ลูกในท้องน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ไว้ดังนี้

 


 
น้ำหนักลูกแค่ไหน เข้าขั้นตัวใหญ่

        
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะถือว่าน้ำหนักตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไปถือว่าเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่ตัวใหญ่ ซึ่งข้อมูลของน้ำหนักทารกในแต่ละกลุ่มประชากรก็จะมีความแตกต่างในการที่จะกำหนดน้ำหนักของทารก สำหรับเกณฑ์ของทารกที่ถือว่าตัวใหญ่ที่ใช้กันมากคือ 4,000 กรัม หรือ 4,500 กรัมขึ้นไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้เกณฑ์น้ำหนักทารกตั้งแต่ 4,500 กรัมขึ้นไป ส่วนในบ้านเราใช้เกณฑ์น้ำหนัก 4,000 กรัม

 
 

สาเหตุ
 
 
มีหลายสาเหตุที่ทำให้ทารกตัวใหญ่ ที่พบได้คือ
 
แม่อ้วนหรือเป็นเบาหวาน

        
ขนาดน้ำหนักตัวของพ่อแม่มากกว่าปกติ

        
มักเกิดขึ้นในท้องหลัง

        
ตั้งครรภ์นานเกินกำหนด

        
ทารกที่เป็นเพศชาย

 
 
คุณแม่เคยคลอดบุตรหนักกว่า 4,000 กรัม

 
แม่ที่สูบบุหรี่

        
เชื้อชาติ

        
โอกาสที่จะพบว่าลูกในท้องตัวโตนั้นจะพบในคุณแม่ที่มีนำหนักตัวมากกว่า 133 กก. (300 ปอนด์) จะมีโอกาสพบได้ประมาณ 5-15 %

 
 

ใหญ่ไม่ใหญ่รู้ได้อย่างไร
        
 
แพทย์มักจะวินิจฉัยน้ำหนักหรือขนาดตัวเด็กไม่ได้ 100% จนกว่าทารกจะคลอด ทั้งที่ได้มีการพยายามนำคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) มาใช้ในการตรวจหาน้ำหนักทารกในครรภ์ ด้วยวิธีการวัดขนาดของศีรษะ ขนาดของกระดูกขา และขนาดเส้นรอบวงท้อง เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณหาน้ำหนัก จากสถิติการประเมินด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่พบว่าทารกมีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัมนั้น มีความถูกต้องเพียง 65% และไม่ได้ให้ผลที่แม่นยำมากกว่าวิธีตรวจจากหน้าท้องของแม่มากนัก เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนสูง ยิ่งคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากโอกาสที่จะผิดพลาดก็จะยิ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้การประเมินน้ำหนักทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเชื่อถือได้

จากผลการศึกษาการประเมินน้ำหนักทารกเทียบกัน ระหว่างการวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงกับการตรวจจากหน้าท้องของแม่พบว่าให้ค่าความแม่นยำใกล้เคียงกันคือ มีความคลาดเคลื่อนบวกหรือลบ ร้อยละ 10 และค่าเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนโดยการตรวจทางหน้าท้องคือบวกหรือลบ 296 กรัม ส่วนของคลื่นเสียงความถี่สูงเป็น บวกหรือลบ 294 กรัม ยิ่งกรณีที่ทารกมีก้นเป็นส่วนนำ ความแม่นยำในการคำนวณน้ำหนักจะลดลง
 
 
ความเสี่ยง! ที่เลี่ยงได้
 
กระดูกเชิงกรานแม่ไม่ได้สัดส่วนกับขนาดตัวลูกของเชิงกรานเมื่อเทียบกับขนาดของทารก อาจทำให้มีการคลอดติดไหล่เกิดขึ้น คือคลอดศีรษะออกมาได้แต่ไม่สามารถคลอดตัวออกมาได้ ซึ่งการพยายามให้คลอดจะมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท ซึ่งพบว่า 30% ของเส้นประสาทที่แขนจะถูกทำลายจากการคลอด โดยเกิดจากการคลอดติดไหล่ และอาจพบว่าทารกมีไหปลาร้าหัก และมีเลือดออกในสมอง ซึ่งจะทำให้ทารกพิการต่อไปในอนาคต

กรณีนี้สามารถเลี่ยงได้โดยการผ่าท้องคลอด ซึ่งหากสูติแพทย์คะเนน้ำหนักทารกที่คาดว่ามากกว่า 4,000 กรัม ก็จะพิจารณาให้ผ่าท้องคลอด เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อทารกจากการคลอดยาก ซึ่งพบว่าทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,500 กรัมจะมีอันตรายจากการคลอดถึง 96%

ในกรณีที่แม่เป็นเบาหวาน ยิ่งคุณแม่ที่เป็นโรคนี้มาเป็นเวลานานหรือมีอาการมาก จะมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและไต มีผลให้อัตราการแท้งบุตรเพิ่มขึ้น และภาวะความดันเลือดสูงขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า และทั้ง ๆ ที่ไม่มีโรคหลอดเลือดหรือไต ก็ยังสามารถเกิดการติดเชื้อได้ง่ายเพราะร่างกายมีความต้านทานต่ำ และอาจพบการติดเชื้อจากการผ่าท้องทำคลอดด้วย ทำให้เด็กมีอัตราทุพลภาพและอัตราชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น (ทั้งหมดนี้คือผลที่อาจเกิดขึ้นกรณีแม่เป็นเบาหวานทั้งหมด หรือเกิดขึ้นได้ถ้าลูกตัวใหญ่)

 
การเสียชีวิตในครรภ์สูงกว่าปกติ 3-8 เท่า หรือ 4-12% เนื่องจากภาวะขาดน้ำตาล

 
เสียชีวิตหลังคลอด 4-10% หรือ 7 เท่าของรายปกติ เนื่องจากการทำงานของปอดผิดปกติ ภาวะขาดน้ำตาล ภาวะระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ

        
รูปร่างผิดปกติตั้งแต่เกิดเพิ่มจากปกติ 2-3 เท่า นอกจากนี้ยังเสียชีวิตจากความบอบช้ำที่เกิดจากการคลอดยากด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนและการติดเชื้อ

        
คลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เนื่องจากมีโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันเลือดสูงขณะตั้งครรภ์ ครรภ์แฝดน้ำ

        
อัตราทุพพลภาพในทารกพบได้มากกว่าปกติ และโอกาสที่เด็กเป็นเบาหวานจะมากกว่าเด็กปกติ โดยการสืบทอดทางพันธุกรรม มีผลกระทบต่อจิตใจเด็กในระยะยาว

        
หัวใจของทารกเกิดใหม่จากแม่ที่เป็นเบาหวานจะมีลักษณะโต

 
อัตราตายหลังคลอด 4% ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อน ความดันเลือดสูงขณะตั้งครรภ์ และหากมีอาการไตอักเสบจะมีการตายเพิ่มสูงถึง 17%

        
พบภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ปริมาณน้ำตาลในเลือดแม่ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดทารกสูง ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนของทารกทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดทารกต่ำ และผลกระทบระยะยาวยังมีการศึกษาว่าทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4,000 กรัม มีความเสี่ยงต่อภาวะ Acute lymphooyte leukemia (มะเร็งในเม็ดเลือด) มากขึ้นด้วย


 
 
 
การดูแลและป้องกัน
 
จริง ๆ แล้วภาวะเสี่ยงที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ หากคุณแม่ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม เริ่มจากการไปฝากครรภ์กับสูติแพทย์ ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้ขึ้นมากเกินไป โดยทั่วไปน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอด แพทย์จะแนะนำไม่ให้เกิน 10-12 กิโลกรัม ฉะนั้นอย่าเพลิดเพลินกับการกินอาหารมากจนเกินไปนะคะ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารหวานจัด หรือเค็ม เผ็ด เปรี้ยวจัด ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม เพื่อให้ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

ในกรณีที่เป็นเบาหวานหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสูติแพทย์จะได้ตรวจติดตามขนาดของทารกในครรภ์และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทั้งแม่และลูกมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงและการคลอดดำเนินไปด้วยดี
 
 
 
 
 
 
ที่มา ::
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เจ้าหนูอารมณ์อ่อนไหว

เจ้าหนูอารมณ์อ่อนไหว
พัฒนาการเด็ก
 


 
เจ้าหนูอารมณ์อ่อนไหว (M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ทพ.ญ.สันทนา โลหาภิรัตน์
คุณแม่มือใหม่สังเกตไหมคะว่า ตอนลูกอายุ 3-4 เดือนนั้น เขาจะอารมณ์ดีร่าเริงยิ้มเก่ง แต่พอถึงช่วงวัย 6 เดือน เขากลับงอแง ขี้หงุดหงิด และอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย แล้วจะทำยังไงกันดีนะ
 
 
เข้าใจอารมณ์หนูหน่อย
หลัง 6 เดือนแรกของชีวิต คุณจะพบว่าเจ้าตัวเล็กที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรกับใครต่อใคร กลับมีอาการแปลกไป โดยทั่วไปเด็กวัยหลัง 6 เดือนมักจะขี้ใจน้อย ตกใจ เมื่อคุณแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ และโกรธ เมื่อเห็นคุณแม่มีทีท่าสนใจคนอื่น หรืออย่างอื่นมากกว่า

อาการแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าตัวเล็กของคุณมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งรู้จักรักและหวงคนที่เขารัก แถมยังรู้จักกลัวการพลัดพรากจากคนรวมไปถึงสิ่งของที่เขารักด้วย
 
 
หงุดหงิดเมื่อของคู่กายหาย

เด็กวัยนี้เกือบทุกคนจะมีของชิ้นโปรดที่ต้องนำติดตัวไปทุกที่ ไม่เคยให้ห่างกาย แม้ยามหลับ อาจจะเป็นตุ๊กตา หมอน หรือผ้าอ้อม เพราะในช่วงวัยนี้เขาจะงอแง ขี้หงุดหงิด และอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย จึงต้องการเครื่องมือปลอบประโลม ที่ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของเขาได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับของชิ้นโปรดของลูกให้มาก ระวังอย่าให้ของเล่นชิ้นโปรดของเขาหาย และหากเป็นไปได้ ควรหาของเล่นชิ้นโปรดนี้สำรองไว้อีกชิ้นหลัง เพราะหากของนั้น หายไปล่ะก็ เจ้าหนูอาละวาดชนิดบ้านแตกแน่
 
 
ความสนใจหลากหลายขึ้น
นอกจากของเล่นชิ้นโปรดแล้ว ลูกวัยนี้ยังมีความสนใจที่หลากหลายมากขึ้น เขาจึงต้องการของเล่นเพิ่มขึ้น ซึ่งของเล่นที่เหมาะกับลูกวัยนี้คือของเล่นที่ใช้มือสัมผัส เนื่องจากตอนนี้มือของเขารับความรู้สึกได้ดีขึ้นแล้ว คุณแม่จึงควรเลือกของเล่นชนิดเดียวกันที่สัมผัสแล้วให้ความรู้สึกต่าง ๆ กัน ให้ลูกได้ ลองจับ หลาย ๆ อย่าง เช่น ลูกบอล ผ้านุ่ม ๆ ลูกบอลยาง ลูกบอลพลาสติก เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ว่า วัตถุที่มีรูปทรงเหมือน ๆ กันเมื่อสัมผัสแล้วไม่ได้ให้ความรู้สึกสักที่เหมือนกันเสมอไป
 
 
นั่งไม่เก่งแต่อยากยืนแล้ว
หลังจากที่สนุกกับการพลิกคว่ำพลิกหงายมาได้ระยะหนึ่ง ในวัย 6 เดือนนี้ เขาจะพยายามใช้ข้อมือยันตัวขึ้นสู่ท่านั่งได้ชั่วครู่ แต่คุณแม่ยิงต้องคอยช่วยประคอง จนอายุครบ 8 เดือน เขาจึงนั่งได้อย่างมั่นคง แต่หากคุณแม่ลองจับเขายืน เขาจะเริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้แล้วล่ะค่ะ
 
 
ไขว่คว้าของที่อยากได้
เด็กวัย 7 เดือน จะสามารถแปลภาพลักษณะคร่าว ๆ ของวัตถุที่เห็นได้เพียง 3 อย่าง คือ ทรงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็ก ๆ โปรดปรานของเล่นอย่างลูกบอล และบล็อกไม้สีสันสดใสเป็นพิเศษ แต่ถ้าให้เขาเลือกหยิบสิ่งของที่มีรูปทรงเดียวกัน ไม่ว่าจะลูกบอลหรือบล็อกไม้ที่มีขนาด และระยะทางที่วางต่างกัน เขาจะเลือกคว้าของชิ้นเล็กที่อยู่ใกล้ มากกว่าของชิ้นใหญ่ที่อยู่ไกลออกไป เพราะเขายังกะระยะการเอื้อมมือไปจับสิ่งของให้ได้ไม่เก่ง หากคุณแม่ฝึกให้เขาใช้มือบ่อย ๆ พออายุ 8-9 เดือน เขาจะใช้มือได้คล่องขึ้น และสามารถใช้สายตากะระยะสิ่งของได้อย่างแม่นยำ และจะเริ่มใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบของเล็ก ๆ ขึ้นมาแทนการใช้ฝ่ามือตะปบแบบเดิม
 
 
ใจร้อนเหลือเกิน
แม้เจ้าตัวเล็กจะใช้มือหยิบของเก่งแล้ว แต่ลักษณะการ "หยิบ" ของของเขาจะเป็นแบบการใช้ฝ่ามือตะปบ แล้วหยิบขึ้นมาเพราะเขายังใช้ปลายนิ้วได้ไม่คล่องนั่นเอง เขายังกะระยะในการตะปบได้ไม่เก่ง แถมยังใจร้อน จึงมักเสียหลักหน้าทิ่มหรือหงายหลังลงพื้นอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น คุณแม่ควรประคองขาอยู่ใกล้ ๆ หรือถ้าจะปล่อยเขานั่งเล่นคนเดียว ควรหาผ้านุ่ม ๆ มาปูไว้บริเวณที่ลูกนั่งเล่นด้วยนะคะ ให้เวลาเขาสักนิด ปล่อยให้เขาคว้า สิ่งของต่าง ๆ มาเล่นบ่อย ๆ ถือเป็นการช่วยให้เขาฝึกสายตาให้ประสานกับมือได้ดีขึ้น การคว้าพลาดจนล้มเจ็บตัวก็จะน้อยลงค่ะ
 
 
ขี้ตกใจและกลัวสารพัด

เด็กในวัย 7-9 เดือน ไม่ชอบอะไรที่ทำให้เขาแปลกใจมากเกินไป เขาจะตกใจกับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย เราจะสังเกตได้ว่า ลูกวัยนี้ชอบการเล่นซ้ำไปซ้ำมา และจะทำในสิ่งที่ทำได้อย่างไม่รู้เบื่อ หากคุณมีของเล่นชิ้นใหม่ให้ลูก ก็ควรช่วยให้เขาทำความคุ้นเคยกับของเล่นชิ้นนั้นก่อน อย่าเพิ่งสอนเขาเล่น หรือเล่นให้เขาดู แต่ควรปล่อยให้ลูกได้จับ ได้หัดเล่น หัดลงมือทดลองเล่นด้วยตนเองจะดีกว่าค่ะ

นอกจากขี้ตกใจ ลูกวัยนี้จะเริ่มรู้จักความกลัว อย่างเวลาคุณชวนเพื่อน ๆ มาที่บ้านแล้วอยากจะได้เจ้าตัวเล็ก ยิ้ม ปรบมือ บ๊ายบาย เขาอาจไม่ยอมทำ และแสดงทำทีกลัวคนแปลกหน้าออกมา ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะนี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักแยกแยะผู้คนได้แล้ว อ้อ....นอกจากกลัวคนแปลกหน้า เขาอาจจะมีอาการกลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคยอย่างสุนัข แมว กลัวเสียงดัง ๆ ด้วยนะคะ
 
 
จับอารมณ์คุณแม่ได้เก่ง
ลูกวัยนี้นอกจากมีอารมณ์ที่หลากหลายแล้ว เขายังจับอารมณ์คุณแม่ได้เก่งด้วย สังเกตง่าย ๆ หากเขาร้องไห้งอแง แล้วคุณแม่ไปอุ้มด้วยอารมณ์ที่หงุดหงิด โมโห เขาจะยิ่งร้องไห้ไม่หยุดค่ะ

การเล่นกับลูกก็เช่นกันค่ะ หากคุณแม่เล่นกับเขาด้วยอารมณ์หงุดหงิด เขาจะรู้สึกได้ทันที แต่ถ้าคุณแม่อารมณ์ดีล่ะก็เขาจะเล่นได้อย่างสนุกและมีความสุขค่ะ
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา :: ปีที่ 36 ฉบับที่ 490 ธันวาคม 2555
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


8 กิจกรรม ช่วยผ่อนคลายแม่ท้อง

8 กิจกรรม ช่วยผ่อนคลายแม่ท้อง


 


 
8 Moody กิจกรรมช่วยผ่อนคลายแม่พุงโต (Mother&Care)

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อารมณ์คุณแม่พุงโต หงุดหงิด ขี้โมโห อารมณ์แปรปรวนได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบส่งผลถึงลูกน้อยไปด้วย เรามีวิธีบริหารอารมณ์แบบบวก ๆ ด้วย กิจกรรมผ่อนคลายอารมณ์คุณแม่พุงโตต่อไปนี้ค่ะ
 
1. นวดผ่อนคลาย

วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้เลือดตามร่างกายส่วนต่าง ๆ มีการไหลเวียนดีขึ้น แก้ปัญหาเรื่องการปวดเมื่อยต่าง ๆ เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดขาได้อีกด้วย และจะดีมากขึ้น เมื่อมีคุณพ่อใกล้ชิด เป็นผู้ช่วยคอยนวดคอยดูแล เท่านี้คุณแม่ก็อารมณ์ดี มีความสุขแล้วล่ะ
 
2. หลับให้สบาย
นอกจากส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอยังทำให้คุณแม่อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย แนะนำว่าควรนอนตะแคงมากกว่านอนหงาย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงลูกในท้อง หรือคุณแม่คนไหนรู้สึกง่วง ช่วงกลางวัน อาจงีบหลับ 5-10 นาที ให้ร่างกาย
 
3. เที่ยวแบบแม่ท้อง

ใช้เวลาช่วงวันหยุด พักผ่อนกาย เติมความสุข อารมณ์บวก ๆ ด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวแบบแม่ท้องก็ได้นะ เงื่อนไขสำคัญมีเพียงเลือกทริปสั้น ๆ เดินทางไม่ไกลมาก และพ่วงเรื่องอาหารการกิน ยาของแม่ท้อง พร้อมด้วยใจที่เป็นสุข รับรองทริปนี้สนุกหรรษาแบบครอบครัวแน่ ๆ จ้า
 
4. สุนทรีกับเสียงเพลง

เสียงเพลงสำหรับแม่ท้อง ควรเป็นเพลงที่สงบ สดใส หรือเสียงแบบธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง น้ำไหล ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสงบนิ่ง และผ่อนคลายมากขึ้น ยิ่งฟังเป็นประจำ สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ช่วยให้คุณเบิกบาน สดชื่น และลูกน้อยก็พลอยได้รับความสุขเหมือนคุณแม่ด้วย
 
5. ออกนอกบ้าน

เพลิดเพลินกับกิจกรรมนอกบ้านในแบบที่คุณเลือกเอง ไม่ว่าเดินเล่น นั่งเล่นที่ร่ม ๆ ลมเย็น ๆ มองเห็นต้นไม้สีเขียว ๆ สวนสาธารณะใกล้บ้านหรือออกไปใช้บริการทำงานประดิษฐ์ ที่เดี๋ยวนี้มีให้เลือกสรรตามความชอบ เช่น ตัดเย็บ เสื้อผ้าง่าย ๆ (เตรียมให้ลูกน้อย), ถักนิตติ้ง ฯลฯ ที่โดยรวมแล้วเป็นกิจกรรมสบาย ๆ ผ่อนคลายอารมณ์ค่ะ
 
6. Movie Enjoy

เปลี่ยนความรู้สึกเดิม ๆ เติมความบันเทิงแบบคุณแม่ ที่ทำได้เลย ทำไม่ยากด้วยค่ะ เช่น ดูหนังตลก ๆ ปล่อยเสียงหัวเราะออกมา หรือดูหนังน่ารัก ๆ กุ๊กกิ๊กเรียกรอยยิ้มให้สบายใจ หรือถนัดเรื่องการทำอาหาร เข้าครัว อาจสนุกกับการคิดเมนูใหม่ ๆ อิ่มอร่อยมีประโยชน์สำหรับแม่ท้องก็ไม่ได้ผิดกติกาหรอกค่ะ
 
7. ออกกำลังกาย
นอกจากประโยชน์เรื่องสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นการบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้มีความยืดหยุ่น ดีต่อการคลอดของคุณแม่ อีกทั้งยังส่งผลต่อการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่เราเรียกว่าสารแห่งความสุข (เอ็นโดรฟีน) ช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดี
 
8. เมาท์...เมามัน

เบื่อนักก็จัดหนัก...จัดปาร์ตี้คุณแม่พุงโตด้วยการชักชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาสังสรรค์พูดคุย แชร์ประสบการณ์เรื่องลูก เรื่องคุณแม่ด้วยก็ยังได้ น่าจะช่วยให้คุณรู้สึกดีกับการมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ร่วมบอกเล่า แชร์ประสบการณ์ให้คุณพร้อมกับการดูแลลูกน้อย กิจกรรมดี ๆ แบบนี้ลองทำดูสิคะ

อย่าลืมชวนคุณพ่อมามีส่วนร่วม มีส่วนรับรู้กิจกรรมที่คุณแม่ทำ คุณพ่อจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงเป็นกำลังใจให้คุณแม่ได้รู้สึกดี สำคัญก็ตรงนี้แหล่ะค่ะ
 
 
 
 
 
 
ที่มา :: Vol.8 No.94 ตุลาคม 2555