Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายเยอรมัน (สิทธิของเด็กในเยอรมัน)

กฎหมายเยอรมัน (สิทธิของเด็กในเยอรมัน)






สิทธิของเด็กในเยอรมัน  
    
 
เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ มักจะถูกผู้ใหญ่มองข้ามในแง่ของสิทธิทางกฎหมาย เรามักจะคิดว่า เด็กยังไม่รู้ภาสีภาษาจะใช้สิทธิทางกฎหมายได้อย่างไร
กฎหมายแพ่งมาตรา 1 (1S BGB) ของเยอรมันกล่าวว่า สิทธิของบุคคลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เด็กลืมตาดูโลก หมายความว่า เด็กเป็นเจ้าของสิทธิและหน้าที่ตั้งแต่เกิดมา สิทธิและหน้าที่แรกก็คือสิทธิขั้นพื้นฐานมาตรา 1 ถึง 19 (Grundrechte) (รายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ในหนังสือเรื่อง "อยู่เยอรมัน" โปรดดูรายการหนังสือในช่องโฆษณา)
แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดจะให้สิทธิแก่บุคคลใดเลยแม้จะเป็นเด็กโดยไม่ให้หน้าที่ด้วย ทั้งนี้เพื่อความสมดุลและความราบรื่นในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์


สิทธิอันเป็นหลักใหญ่ๆของเด็ก

ห้ามครูหรือพ่อแม่ตีทำร้ายหรือกักขังเด็ก (สิทธิขั้นพื้นฐานมาตรา 2 ข้อ 2) เด็กมีสิทธิได้รับรางวัลเมื่อเก็บของมีค่าแล้วเอาไปคืน มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ด้วยกันกับลูก มีสิทธิขอเงินช่วยค่าเล่าเรียนจากรัฐบาล (BafoeG) ถ้ามีเงื่อนไขถูกต้อง มีสิทธิทำใบขับขี่เมื่ออายุครบ 18 ปี (นอกจากจะมีเหตุผลเป็นอื่น) และมีสิทธิขายสิ่งของและรับเงินเป็นค่าตอบแทน
 


หน้าที่อันเป็นหลักใหญ่ๆของเด็ก

เด็กจะต้องไม่ทำร้ายร่างกาย กักขัง หรือทำลายเสรีภาพของผู้อื่น มีหน้าที่ต้องไปโรงเรียน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ใช้หนี้ถ้าไปเอาเงินหรือทรัพย์สินของคนอื่นไป จะขอยกตัวอย่างสิทธิและหน้าที่ของเด็กในชีวิตครอบครัวประจำวันดังต่อไปนี้
 


เด็กมีสิทธิที่จะรู้ว่าใครเป็นบุพการี

ในกรณีที่เด็กถูกขอมาเลี้ยง หรือเด็กที่มีแม่เป็นโสด หรือแม่ที่มีลูกติดมาแล้วมาแต่งงานใหม่ ส่วนเรื่องที่จะบอกเด็กอย่างไรและเมื่อไรนั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และอายุของเด็ก นักจิตวิทยามีความเห็นว่า ควรบอกเมื่อเด็กพอเริ่มจะเข้าใจ เกี่ยวกับความเป็นพ่อ เป็นแม่และลูกแล้ว (เมื่อเด็กเล่นพ่อ-แม่-ลูก) อย่าปิดบัง หรือปล่อยให้เด็กสงสัยไปจนโต เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ และความมั่นใจในตัวเอง
เด็กมีหน้าที่ช่วยทำงานในบ้าน หรือช่วยในกิจการค้าขายในบ้านตามวิวัฒนาการของอายุ เช่น เด็ก 5 ขวบสามารถเช็ดฝุ่นบนโต๊ะได้ เด็ก 7 ขวบ สามารถจัดห้องตัวเองให้เป็นระเบียบ เด็ก 8 ขวบสามารถเก็บโต๊ะทานข้าว กวาดใบไม้ในลานบ้าน เด็ก 9 ขวบ สามารถพาหมาไปเดินเล่น ใช้ให้ไปซื้อของเล็กๆน้อยๆ ในตลาดซุปเปอร์ หรือ เด็ก 10 ขวบ จัดอาหารเช้าในวันเสาร์อาทิตย์ได้แล้ว ในการช่วยงานในครอบครัวดังกล่าว เด็กไม่มีสิทธิขอเงินค่าตอบแทน (กฎหมายแพ่งมาตรา 1619) แต่ถ้าเด็กคนไหนขยันขันแข็งเป็นพิเศษก็อาจจะได้รางวัลในทางอื่น เช่น ให้อยู่ดึกได้เป็นพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ หรือได้เพิ่มเวลาดูทีวีรายการเด็ก
 


เงินติดกระเป๋า (Taschengeld)

เด็กมีสิทธิขอเงินติดกระเป๋าหรือไม่ กฎหมายเด็กและเยาวชนมาตรา 1 (S 1 Kinder-und Jugendgesetz) ระบุว่า "เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเด็ก การเรียนรู้จักรับผิดชอบและส่งเสริมบุคคลิกภาพในสังคม" เด็กมีสิทธิได้รับเงินติดกระเป๋าจากพ่อแม่ พ่อแม่ไม่สามารถจะอ้างได้ว่า จะเอาอะไรก็ให้ทุกอย่าง ทำไมจะต้องมีเงินส่วนตัวด้วย ถ้าพ่อแม่ปฎิเสธไม่ยอมให้เงินติดกระเป๋า กฎหมายว่า เด็กมีสิทธิไปฟ้องหน่วยสงเคราะห์เด็กและเยาวชนได้ (Jugendamt) ส่วนที่ว่าจะให้เท่าไรและตั้งแต่อายุเท่าไรนั้น ให้พ่อแม่พิจารณาตามความเหมาะสมของเด็ก นักจิตวิทยากล่าวว่าเมื่อลูกมีความเข้าใจแล้วว่า เงินนำไปแลกสินค้าได้ เงินติดกระเป๋าเป็นเงินส่วนตัวที่เด็กจะนำไปใช้ (หรือไปเก็บ) ได้อย่างเสรี แต่กระนั้น เมื่อพ่อแม่ ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลปกครองลูกอยู่ กฎหมายก็ให้อำนาจพ่อแม่ ควบคุมและตักเตือน ไม่ให้เด็กนำเงินไปซื้อของ ที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย แต่ถ้าพูดกันแล้วก็ยังไม่เชื่อ เช่น ไม่ให้ซื้อโคล่า หรือหนังสือนิตยสารที่เป็นภัยต่อวัย หรือซื้อของเล่นที่เป็นอาวุธมีคม พ่อแม่ก็มีสิทธิตัดเงินติดกระเป๋าได้ เงินติดกระเป๋า แตกต่างกับเงินที่พ่อแม่มอบให้ไปซื้อของบางอย่าง เช่น ถ้าเด็กได้รับเงินเพื่อไปซื้อสมุดดินสอ เด็กจะนำไปซื้อของอื่นไม่ได้
 
 
 
 
 
 
 
สิทธิของเด็กในเยอรมัน II
 
 
เมื่อฉบับที่แล้วดิฉันได้กล่าวถึงว่า เด็กเป็นบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ตั้งแต่ลืมตามองโลกเลยทีเดียว สิทธิและหน้าที่ของเด็ก ได้รับความคุ้มครองปกป้องโดยกฎหมาย แม้แต่พ่อและแม่บังเกิดเกล้า ก็จะต้องเคารพและไม่ฝ่าฝืน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะสามารถ ใช้สิทธิทางกฎหมายของเขาได้เต็มที่ เช่นในกรณีของเด็กที่ยังอายุน้อย
 
เพราะฉะนั้นกฎหมายจึงมอบหมายให้บุคคลอื่น -โดยทั่วไปแล้วคือพ่อและแม่ -ใช้สิทธิทางกฎหมายแทนเด็กและผู้เยาว์ จนกว่าเขาจะสามารถใช้สิทธิด้วยตัวเองได้ พ่อและแม่บังเกิดเกล้าหรือพ่อแม่บุญธรรม หรือผู้มีอำนาจปกครองเด็กจะต้องทำหน้าที่ดูแลเด็ก ทั้งทางด้านตัวบุคคล (Personensorge) และทรัพย์สินของเด็ก (Vermoegenssorge) การดูแลด้านตัวบุคคล ได้แก่...
 
การตั้งชื่อให้เด็ก ให้การศึกษา การรักษาพยาบาล ให้ความยินยอมเรื่องการสมรส อบรมสั่งสอน ห้ามปรามเรื่องการไปเที่ยวดิสโก้ ถอนเงินติดกระเป๋า ตักเตือน ห้ามคบหาสมาคมกับเพื่อนบางคน เป็นต้น การดูแลด้านทรัพย์สิน ได้แก่เก็บรักษาและทำผลประโยชน์ให้งอกเงย ทำธุรกิจให้มีผลกำไร ทำธุระเกี่ยวกับธนาคาร ในกรณีที่เซ็นสัญญากู้เงินกับธนาคาร จะต้องขอคำสั่งจากศาลคดีเด็กและเยาวชน (Vormundschaftsgericht) ผู้ปกครองเด็กในกรณีพิเศษ

 

 

ถ้าคุณนำลูกซึ่งเกิดจากสามีเก่ามาเลี้ยงในเยอรมัน คุณมีอำนาจปกครองเด็กเพียงฝ่ายเดียว สามีเยอรมันคนใหม่ ไม่มีอำนาจปกครองร่วมด้วย ตราบใดที่ยังไม่ได้รับลูกของคุณเป็นบุตรบุญธรรม เด็กจะใช้นามสกุลเดิมต่อไป ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองต่อไปได้ เช่น เนื่องจากเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต รัฐบาลจะแต่งตั้งผู้ดูแลเด็กแทน (Pfleger)
 
ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ฝ่ายที่ยังอยู่จะรับหน้าที่เลี้ยงดูเด็กต่อไป แต่แม่ถ้าเสียชีวิต และพ่อไม่ได้สมรสกับแม่ พ่อจะต้องขออำนาจปกครองเด็กเสียก่อน จึงจะมีสิทธิปกครองเด็กได้ สิทธิและหน้าที่ของเด็กอายุระหว่าง 7-10 ขวบ
 
อายุ 7 ขวบ - มีสิทธิกระทำการทางกฎหมายได้จำกัด และรับผิดชอบในการกระทำโดยจำกัด หมายความว่า ถ้าเด็กกระทำผิดในสิ่งที่ตนเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เด็กจะต้องรับผิดชอบในความผิดนั้น
 
อายุ 8 ขวบ - สามารถรับผิดชอบการกระทำบางอย่าง เช่น รู้แล้วว่าถ้าเตะลูกบอลใส่กระจกหน้าต่าง กระจกจะแตก แต่ไม่สามารถรู้ว่า ยาเม็ดที่แม่วางทิ้งไว้ในครัวเป็นยาอันตรายถึงชีวิตเมื่อแกเอาไปให้เพื่อนกินแก้ปวดหัว
 
อายุ 10 ขวบ - สามารถถูกไต่ถามว่านับถือศาสนาอะไร ในกรณีพิพาท ศาลคดีเด็กและเยาวชนสามารถสอบสวนเด็กวัยนี้เกี่ยวกับศาสนาที่เขานับถือแล้ว นอกจากนั้น เขายังมีสิทธิทำบัตรประจำตัวเด็กซึ่งต้องติดรูป
 
อายุ 12 ขวบ - มีสิทธิออกเสียงและความเห็นในเรื่องการนับถือศาสนาและการเปลี่ยนศาสนา เยาวชน (ตั้งแต่ 14 ปีถึง 18 ปี)
 
อายุ 14 ปี - หมดสภาพเป็นเด็ก มีสิทธิและหน้าที่เพิ่มขึ้น
สามารถรับโทษทางกฎหมายอย่างจำกัด
สามารถปฎิเสธการเป็นบุตรบุญธรรมได้ (กฎหมายแพ่งมาตรา 1746)
สามารถยื่นฟ้องร้องทุกข์ต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนได้
สามารถตัดสินใจเองได้แต่ผู้เดียวว่าจะนับถือศาสนาใด

 
อายุ 15 ปี ทำงานระหว่างปิดเทอมได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์
เรียนวิชาชีพและทำงานเบาๆได้ ถ้าหมดหน้าที่ต้องไปโรงเรียนแล้ว
มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนเยาวชนในกลุ่มตัวแทนลูกจ้าง

 
อายุ 16 ปี สามารถได้รับการสาบานตัวในการนั่งพิจารณาคดีในศาลได้
มีสิทธิเลือกตั้งรัฐสภาของรัฐ (Landtagswahl) ได้ในบางรัฐ (เช่นรัฐนีเด้อร์ซัคซั่น)
ทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (Mofa) ได้
เข้าร้านอาหาร (ซึ่งไม่ใช่บาร์ ไนต์คลับ หรือคล้ายคลึงกัน) ได้จนถึง 24 น. โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองพาไป
เข้างานเต้นรำได้จนถึง 24 น. โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองพาไป และมีสิทธิดื่มเหล้าเปอร์เซ็นต่ำได้เช่น เบียร์ ไวน์
สูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้
ทำพินัยกรรมส่วนตัวได้โดยจำกัด แต่ทำพินัยกรรมกับทนายความได้โดยไม่จำกัด
จดทะเบียนสมรสกับคู่สมรสซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วได้ ถ้าได้รับอนุมัติจากศาลคดีเด็กและเยาวชน (Vormundschaftsgericht) และจากพ่อแม่ต้องมีบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง

 


บทความนี้คัดและย่อมาจากหนังสือเรื่อง "สิทธิของฉันในเยอรมัน" ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายในวงจรชีวิตของคนไทยในเยอรมัน บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย แต่เป็นบทความสนทนาเรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย และให้ข้อคิดเพื่อเก็บไปคิดต่อ ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบในความถูกผิดแต่ประการใด







ที่มา  ::    สิทธิของฉันในเยอรมัน          ;  ขอบคุณ...คุณสุชาวดี ว้ากเนอร์ ผู้เขียนหนังสือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น