Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายเยอรมัน (นามสกุลหลังสมรส)


กฎหมายเยอรมัน (นามสกุลหลังสมรส)






นามสกุลหลังสมรส

 
กฎหมายนามสกุลเยอรมัน สร้างความปวดหัวให้แก่คนไทย ที่มาแต่งงาน หรือหย่า หรือมีบุตรในเยอรมนีไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากกฎหมายนี้ แตกต่างกับกฎหมายนามสกุลของไทย ดังนั้นแม้ว่าคนสัญชาติไทยที่อยู่เยอรมันจะมีสิทธิเลือกใช้กฎหมายนามสกุลของเยอรมันก็ตาม แต่ถ้าขัดกับกฎหมายไทยก็จะเกิดความยุ่งยากขึ้นได้
 

กฎหมายนามสกุลเยอรมัน

กฎหมายแพ่ง (BGB) มาตรา 1355 แก้ไขเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1994 ให้สิทธิชายและหญิงที่แต่งงานกันต่างคนต่างใช้นามสกุลเดิมของตนต่อไปได้ (เหมือนกับคนที่ไม่ได้แต่งงานกัน) แต่ถ้าชายหรือหญิงต้องการใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะต้องเอานามสกุลดั้งเดิมที่มีมาแต่เกิดของฝ่ายนั้น จะเอานามสกุลที่เจ้าของได้มาทีหลังไม่ได้ เช่น

 
นายฮันส์ เบาเวอร์ ต้องการใช้นามสกุลของภรรยาคือ นางสมัย แสนสุข ซึ่งเป็นแม่หม้ายและใช้นามสกุลสามีคนเดิมอยู่ ในเรื่องนี้กฎหมายเยอรมันไม่อนุมัติเพราะ แสนสุข ไม่ใช่นามสกุลที่มีมาแต่เกิดของนางสมัย
 
ฝ่ายที่สละนามสกุลเดิมเพื่อไปใช้นามสกุลของคู่สมรส ถ้ายัง "รักพี่เสียดายน้องอยู่" ก็มีสิทธิเอานามสกุลเดิมของตนควบเข้าไปได้ (Doppelname) เช่น นางยาใจ เทพพิทักษ์-ฮูเบอร์
ถ้าคู่สมรสจะตัดสินใจเลือกนามสกุล ตอนจดทะเบียนสมรสก็ได้ หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 5 ปีหลังจากนั้นจดทะเบียนสมรส
ใครเลือกใช้นามสกุลควบแล้วต่อมาเกิดรำคาญ (อาจจะเป็นเพราะยาวรุงรัง ทั้งฝรั่งทั้งไทยเรียกแล้วสะดุดหน้าสะดุดหลัง) อยากจะขอเปลี่ยนตัดนามสกุลเก่าทิ้งไปก็ย่อมทำได้ โดยยื่นคำร้องที่ Gemeinde หรืออำเภอที่ไปจดทะเบียนสมรส แต่ขอให้คิดให้รอบคอบก่อน อำเภอจะไม่ยอมให้เปลี่ยนกลับไปกลับมาอย่างแน่นอน
 


เมื่อหย่าจากการสมรสหรือเมื่อสามีตาย


ผู้หญิงที่ใช้นามสกุลของสามีเมื่อแต่งงาน หลังจากหย่าแล้วหรือสามีตายไปแล้วก็ยังคงใช้นามสกุลสามีเก่าต่อไปจนกว่าจะแต่งงานใหม่และขอเปลี่ยนนามสกุล แต่ถ้าไม่ต้องการใช้นามสกุลของอดีตสามีก็ไปยื่นคำร้องขอเปลี่ยนกลับไปเป็นนามสกุลเดิมของตนก็ได้
 

 
กฎหมายนามสกุลของไทย

กฎหมายนามสกุลของไทยนี่ไม่ค่อยยุ่งยาก คือไม่มีให้เลือก ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องใช้นามสกุลของสามี ถ้าหย่าแล้วก็กลับไปใช้นามสกุลของตนตามเดิม แต่ถ้าสามีตายก็ใช้นามสกุลของสามีต่อไป
 
 กระทรวงต่างประเทศบังคับว่า หนังสือเดินทางไทย (พาสปอร์ต) ที่หมดอายุแล้ว กระทรวงฯ จะออกให้ใหม่ตามข้อมูลในบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น ดังนั้น หลังจากจดทะเบียนสมรสในเยอรมันแล้ว ก็จะต้องส่งหนังสือเดินทาง ไปให้สถานเอกอัครราชทูตลงบันทึกสถานะการสมรส และลงนามสกุลของสามี และเมื่อกลับไปประเทศไทย ก็เปลี่ยนข้อมูลในบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านให้สอดคล้องกันด้วย
ปัญหาดังต่อไปนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนไทยที่สมรสในเยอรมันและเลือกใช้กฎหมายนามสกุลของเยอรมัน แต่ถือพาสปอร์ตไทยอยู่
 
1. หญิงไทยที่เลือกใช้นามสกุลเก่าของตนเองต่อไป หรือนามสกุลควบ เมื่อส่งพาสปอร์ตไปบันทึกสถานะการสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ก็จะได้รับการบันทึกนามสกุลของสามีลงไปในพาสปอร์ตไปด้วย ตามกฎหมายนามสกุลของไทย
2. หญิงไทยที่หย่าขาดจากสามีเยอรมันในประเทศเยอรมันแล้ว จะใช้นามสกุลของสามีต่อไปตามกฎหมายเยอรมัน แต่ตามกฎหมายไทยจะต้องกลับไปใช้นามสกุลก่อนสมรส (บันทึกนามสกุลลงในพาสปอร์ต)
 
3. ชายไทยที่มาสมรสกับหญิงเยอรมัน เลือกใช้นามสกุลภรรยาตามกฎหมายเยอรมัน แต่กฎหมายไทยไม่ยอมรับและให้ใช้นามสกุลไทยในพาสปอร์ตตามเดิม
4. ชายไทยที่มาจดทะเบียนสมรสกับชายเยอรมัน (ตามกฎหมายเยอรมัน) และเปลี่ยนนามสกุลไปตามคู่สมรส แต่กฎหมายไทยไม่เปลี่ยนนามสกุลให้ในพาสปอร์ต เพราะไม่รับว่าการสมรสนี้มีผลบังคับตามกฎหมายไทย (ในกรณีนี้ขอแนะนำให้ชายไทยนำใบทะเบียนสมรสเยอรมันซึ่งแปลและรับรองแล้ว ติดตัวไปกับพาสปอร์ตเสมอ)
5. หญิงไทยที่เปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมันหลังจากหย่าแล้ว ต้องการใช้นามสกุลเยอรมัน แต่ในพาสปอร์ตไทยนามสกุลสมรสได้เปลี่ยนกลับไปเป็นนามสกุลเดิมแล้ว (กรณีนี้ ขอแนะนำให้ติดต่อขอเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอดีตสามีเยอรมันที่อำเภอเยอรมัน)
 
เพียงเท่านี้ก็น่าปวดหัวพอแล้วนะคะ ดิฉันขอแนะนำพี่น้องชาวไทยทุกคนว่า ให้ขยันเก็บเอกสารทั้งมีอายุและหมดอายุเอาไว้ รวมทั้งพาสปอร์ตทั้งเก่าทั้งใหม่ด้วย หรืออย่างน้อยก็ถ่ายเอกสารเก็บไว้ให้หมด มันจะประหยัดเวลาและพลังงานแห่งชีวิตของคุณไปได้มาก ไม่ต้องมาวิ่งเต้น หาเอกสารหลักฐาน เวลาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง


 
 
คำแนะนำในการแก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎร์ สำหรับผู้ยื่นเรื่องขอแก้ไขชื่อสกุล
 
บัดนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องข้างต้น เพื่อมิให้เกิดความสับสน และเพื่อให้ข้อมูล ในเอกสารทะเบียนราษฎร ของผู้ร้องในประเทศไทย ถูกต้องตามความเป็นจริงดังนี้
  1. สตรีไทย ได้ยื่นเรื่องขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุล แก้ไขชื่อสกุล ในหนังสือเดิน ทางภายหลังการสมรสแล้ว ขอให้ดำเนินการ ยื่นเรื่องขอแก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎร ให้ถูกต้องในภายหลัง ณ ที่ว่าการเขต หรืออำเภอในประเทศไทย ที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ด้วย
  2. เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ แก้ไขชื่อสกุลตามสามี ในหนังสือเดินทางให้แล้ว โปรดดำเนินการดังนี้
    2.1 ให้นำทะเบียนสมรส ที่เป็นภาษาเยอรมัน ไปแปลเป็นภาษาไทย และมาขอรับรองคำแปล ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
    2.2 นำทะเบียนสมรส ที่ได้รับรองคำแปล จากสถานเอกอัครราชทูตแล้ว ไปดำเนินการรับรองลายมือชื่อ ที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และรับรองคำแปล ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ (กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ) อีกครั้ง
    2.3 นำเอกสารดังกล่าว ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากกองสัญชาติและนิติกรณ์แล้ว ไปขอแก้ไขนามสกุล ในทะเบียนบ้าน และเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอที่ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์
 

 



บทความนี้คัดและย่อมาจากหนังสือเรื่อง "สิทธิของฉันในเยอรมัน" ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายในวงจรชีวิตของคนไทยในเยอรมัน บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย แต่เป็นบทความสนทนาเรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย และให้ข้อคิดเพื่อเก็บไปคิดต่อ ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบในความถูกผิดแต่ประการใด






ที่มา  ::    สิทธิของฉันในเยอรมัน          ;  ขอบคุณ...คุณสุชาวดี ว้ากเนอร์ ผู้เขียนหนังสือ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น