Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส



วิธีดูแลร่างกาย เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส


  โรคอีสุกอีใส คืออะไร

โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด (Herpes Zoster) ติดต่อได้ด้วย การไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ


 อาการของโรคอีสุกอีใส
เด็กที่เป็นโรคอีสุดอีใสจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัดขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ต่อมากลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน หรือดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาก็ค่อยๆ ตกสะเก็ด บางคนมีแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย และมีอาการเจ็บคอ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็กเล็ก โดยทั่วไปผื่นและตุ่มจะหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจออกมาเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้



 อาการแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใส

อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายอาจจะกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ใช้ยารักษามะเร็งหรือสเตอรอยด์  เชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสอาจจะกระจายรุกลามไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ เป็นต้น

  การรักษา
เนื่องจาก โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่หายเองได้ โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการ กลุ่ม "ไรน์" (Reye's syndrome) ได้ ทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด กรณีที่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน ควรตัดเล็บให้สั้นและหลักเลี่ยง การแกะ หรือเกาตุ่ม ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้รับประทานยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้า gauze ชุบน้ำเกลือล้างแผลปิดบาดแผล

ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส แต่ต้องใช้ขนาดสูงและแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการมิฉะนั้นอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี
 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ โรคอีสุกอีใส
  - โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็น งูสวัด ได้ในภายหลัง
  - ควรแยกผู้ป่วยออก เพื่อป้องกันการติดต่อ ทั้งนี้ระยะแพร่เชื้อจะเริ่ม ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนที่มีผื่นหรือตุ่มขึ้นจนถึงตุ่มแห้งตกสะเก็ดหมดแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในระยะนี้ผู้ป่วย ต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน
  - เชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Varicella zoster) สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการหรือเป็นโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะมารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ภายใน 20 สัปดาห์แรก
  - โรคนี้ไม่มีของแสลง แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และอาจดื่มนมเสริม เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค
  - ปัจจุบันมีวันซีนป้องกัน โรคอีสุกอีใส แล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 90% และใช้กันอย่างแพร่หลาย ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกุมารแพทย์ทุกท่าน 


สอบถามรายละเอียดและรับคำปรึกษาได้ที่: 
ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2
โทร.0-2617-2444 ต่อ 3219-20






ที่มา ::    http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/13/421/th



3 ความคิดเห็น:

  1. โรคอีสุกอีใส (chickenpox)


    เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา มีลักษณะอาการเป็นผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง
    และมีไข้




    การติดต่อ
    ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน
    ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็น อีสุกอีใส หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือกระยะฟักตัว 10-20 วัน



    อาการ
    เด็กที่เป็นจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2-3 วันจะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มเหล่านี้จะขึ้นตามไรผมก่อนแล้วกระจายไปตามใบหน้าและลำตัว แผ่นหลัง บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย จะเกิดอาการเจ็บคอ
    บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นเท่านั้น ผื่นจะขึ้นมากที่สุดที่ใบหน้าและลำตัว เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะออกมาเป็น งูสวัดในภายหลังได้


    เนื่องจากผื่นและตุ่มที่ขึ้นนี้จะค่อยๆขึ้นทีละระลอก ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย บางทีจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางทีขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ บางทีขึ้นเป็นตุ่มกลัดหนอง และบางทีเริ่มตกสะเก็ด จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส
    อาการแทรกซ้อน
    ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นได้รับยารักษามะเร็ง หรือ สเตอรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายในเช่น สมอง ปอด ตับ ได้
    การรักษา
    เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา พาราเซตามอล เพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ
    ทำให้ถึงตายได้
    ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
    ในรายที่คันมากๆ อาจให้ ยาแก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน ช่วยลดอาการคันได้ ในปัจจุบัน มียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แต่ต้องใช้ในขนาดสูงและราคาแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ผลดี

    ตอบลบ
  2. โรคอีสุกอีใส


    อีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน นับเป็นโรคที่ไม่รุนแรงในเด็กปกติ สามารถหายได้เองและไม่มีอันตราย แต่อาจทำให้มีผลเสียทางอ้อม เช่น ต้องหยุดโรงเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหยุดงานเพื่อมาดูแล อาการของโรคและผลกระทบจะมากขึ้นกรณีเป็นเด็กโต นอกจากนี้ เด็กโต ผู้ใหญ่ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากขึ้น

    สาเหตุ
    เกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด

    การติดต่อ
    ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำที่ผิวหนังผู้ป่วยโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอนของผู้ป่วยที่สัมผัสกับตุ่มน้ำ หรือจากการสูดหายใจเอา ละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าทางเยื่อเมือก ระยะติดต่อคือ ช่วง ก่อนเกิดตุ่มคันที่ผิวหนัง 1 หรือ 2 วัน

    อาการ
    หลังจากได้รับเชื้อเข้าไปจากการสัมผัสโดยตรงหรือจากการหายใจ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 10-21 วัน เริ่มต้นด้วยมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว 2-4 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นเกิดขึ้น ผื่นของโรคนี้อาจมีอาการคันได้ ผื่นจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าและลำตัวก่อนแล้วค่อยๆลามไปยังแขนขา ผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะต่างๆอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง จากผื่นแดงกลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำและตกสะเก็ด ตุ่มน้ำจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำอยู่บนผิวหนังที่แดง เมื่อตุ่มน้ำโตเต็มที่จะกลายเป็นตุ่มหนอง ต่อมาตุ่มหนองจะแห้งลง มีลักษณะบุ๋มตรงกลางแล้วตกสะเก็ดหลุดไปในเวลา 5-20 วัน หลังสะเก็ดหลุด จะเห็นผิวหนังเป็นหลุมเล็กๆสีชมพู ซึ่งต่อมาจะจางเป็นสีขาวและไม่เกิดแผลเป็น แต่ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือแกะสะเก็ดให้หลุดไปก่อนจะเกิดแผลเป็นตามมาได้ ผื่นของโรคนี้มักอยู่เป็นกลุ่มและมักพบผื่นหลายระยะในบริเวณใกล้ๆกัน โดยพบมากที่บริเวณศีรษะ ลำตัว และใบหน้า ส่วนบริเวณแขนขาจะมีตุ่มขึ้นน้อยกว่า
    ลักษณะไข้มักเป็นพร้อมผื่น โดยจะเป็นอยู่ 2-4 วัน และหายไปเมื่อตุ่มตกสะเก็ด โรคอีสุกอีใสในเด็กเล็กอาจไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ แต่ในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเบื่ออาหารนำมาก่อนที่จะมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 1-2 วัน

    ภาวะแทรกซ้อน
    โดยทั่วไปโรคนี้มักจะหายเป็นปกติได้เอง พบภาวะ แทรกซ้อนได้น้อยในเด็ก พบบ่อยขึ้นในผู้ใหญ่และมักมีอาการรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น
    1. การติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดบริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำหรือติดเชื้อในกระแสเลือด ข้อหรือกระดูกได้
    2. สมองอักเสบ พบได้น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย อาการที่พบบ่อยคือ เดินเซ โดยมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือผู้ใหญ่ อาการมักเกิดหลังผื่นขึ้น3-8 วัน
    3. ปอดอักเสบ มักพบในผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาจมีอาการเขียวหรือไอเป็นเลือดได้ มักเกิดภายในวันที่ 1-5 หลังผื่นขึ้น
    4. การติดเชื้อแบบแพร่กระจาย มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาการของโรคมักรุนแรงมีการดำเนินโรคเร็ว
    นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นโรคอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้

    ตอบลบ
  3. การรักษา
    เนื่องจากโรคนี้หายได้เองโดยธรรมชาติ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ

    ข้อแนะนำ
    1. ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ
    2. ถ้ามีไข้ ให้ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาลดไข้แอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการไรย์ (Reye's syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับ ทำให้มีอาการของสมองอักเสบร่วมกับตัวเหลืองจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ นอกจากนี้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
    3. ถ้าปากหรือลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
    4. ควรอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
    5. ควรตัดเล็บให้สั้น พยายามไม่แกะหรือเกาตุ่มคันซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้
    6. ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ระยะแพร่เชื้อคือตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้นจนกระทั่งระยะ 6 วันหลังผื่นขึ้น
    7. โรคนี้ไม่มีอาหารแสลง ควรรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนเช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค

    การป้องกันโรค
    การป้องกันการติดต่อของโรคนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้นจนผื่นตกสะเก็ด
    • เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสควรงดไปโรงเรียนจนผื่นตกสะเก็ดหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆในห้องอาจได้รับเชื้อไปตั้งแต่ก่อนผื่นขึ้นแล้ว
    • การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดีในเด็ก

    การฉีดวัคซีน
    • เด็กอายุ 1-12 ปี ป้องกันโดยฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว
    • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ การเกิดภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนไม่ดีเท่าเด็กเล็ก จึงต้องฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

    ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
    • มีไข้ต่ำๆหรือตุ่มน้ำเล็กน้อยในบางราย
    • การฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ทุกคน โดยจะป้องกันได้ร้อยละ 85-95
    • ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเมื่อเป็นโรคจะมีอาการไม่รุนแรงมีตุ่มขึ้นจำนวนน้อยและหายเร็ว
    • โรคงูสวัดจะพบน้อยลงหลังฉีดวัคซีน

    ตอบลบ