Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อหนูเริ่มหัดขีดเขียน

เมื่อหนูเริ่มหัดขีดเขียน






คุณแม่หลายคนมีปัญหาว่า ทำไมน้า!! เวลาฝึกหัดให้ลูกเขียนหนังสือทำไมยากจัง เหมือนเข็นภูเขาขึ้นมาอยู่บนครก อิ อิ ทั้งท่าทางในการจับดินสอ การฝึกเขียนในลักษณะต่างๆ แม้กระทั่งการสร้างแรงจูงใจในการเขียน ก็มีส่วนสำคัญในการฝึกให้ลูกเป็นเด็กรักการเขียนจนเติบโตค่ะ



ท่าทางการจับดินสอ 


สังเกตได้ว่า ท่าทางเริ่มต้นสำหรับการจับดินสอของเด็กทุกๆ คน มักจะจับดินสอแบบกำทั้งมือ ซึ่งจะทำให้ใช้กำลังมาก เวลาเขียนก็จะใช้ไหล่ในการเคลื่อนไหว การจับดินสอที่ผิดจะทำให้การเขียน ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะใช้แรงมากในการจับเป็นเหตุให้มือและแขนจะล้าได้ง่ายค่ะ จนเมื่ออายุ 4 ปีนั่นแหล่ะค่ะ ถึงจะมีพัฒนาการไปสู่การจับดินสอที่ดีขึ้น
ซึ่งท่าทางการจับดินสอที่มีประสิทธิภาพที่สุดเรียกว่า “การจับ 3 นิ้ว” (Tripod grasp )

การจับในลักษณะนี้คือ



  • เด็กถือดินสอไว้ด้วย 3 นิ้ว คือนิ้วกลาง นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้

  • ดินสอจะอยู่บนข้อนิ้วกลาง ขณะที่จะถูกบีบอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้

  • นิ้วก้อยและนิ้วนางจะวางพักอยู่บนโต๊ะ

การจับในลักษณะนี้มีประสิทธิภาพเพราะ ใช้แรงในการเขียนน้อยมากค่ะ ซึ่งทำให้มือไม่ล้าง่ายและทำให้มีการเคลื่อนไหวที่สะดวกขึ้น



พัฒนาการด้านการเขียน


การเขียนไม่ใช่แค่สอนให้เด็กแค่จับดินสออย่างเดียวแล้วจะเขียนได้เลย หากแต่ต้องมีทักษะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอยู่ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ค่ะ

10 - 12 เดือน ขีดเขียนเส้นขยุกขยิก

1 - 2 ปี พัฒนาจากเส้นขยุกขยิกเป็นการเลียนแบบเส้นแนวตั้ง เส้นแนวนอน คุณแม่สามารถวาดรูปให้เขาฝึกวาดตามก็ได้ค่ะ

2 - 3 ปี ลอกแบบเส้นแนวตั้ง และเส้นแนวนอน โดยไม่ต้องให้ดูในขณะวาดได้

3 ปี ลอกแบบรูปวงกลม

3 - 4 ปี ลอกแบบเครื่องหมายบวกและกากบาท

4 - 5 ปี ลอกแบบเส้นเฉียงและสี่เหลี่ยมจัตุรัส

5 - 6 ปี ลอกชื่อตัวเอง และรูปที่มีความสลับซับซ้อนขึ้นได้ เช่น แบบรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมเปียกปูน ฯลฯ

6 - 7 ปี ลอกแบบอักษรและตัวเลข เขียนตัวหนังสือได้ตามขนาดปกติ



 
กิจกรรม...เมื่อเริ่มขีดเขียน


            ทักษะหลายๆ อย่างผ่านจากกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมพื้นฐานทางด้านการเขียน ก่อนลูกถึงวัยเข้าเรียนค่ะ
 


  • ใช้คีมหนีบขนาดใหญ่ หนีบเก็บของ เช่น คีบถั่ว คีบเหรียญ คีบลูกบาศก์

  • กิจกรรมการร้อยและการเย็บ เช่น ร้อยลูกปัด ร้อยมักกะโรนี

  • ตัดแป้งโดด้วยมีดพลาสติดหรือที่ตัดพิซซ่าโดยจับในท่าจับมีดหั่นเนื้อ

  • ระบายสีบนกระดาษที่วางบนขาตั้งภาพ

  • เล่นเกมต่อจุดโดยการลากเส้นต่อจุดจากซ้ายไปขวาหรือบนลงล่าง




เมื่อลูกถนัดมือซ้าย?


            ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ทำไมเราถนัดมือซ้ายได้ แม้จะเคยมีการศึกษาวิจัยกันมาบ้างค่ะ บ้างก็ว่าเกิดจากพันธุกรรม แต่ก็มีคนอีกจำนวนร้อยละ 84 ที่พ่อแม่ถนัดขวาและคู่แฝดประมาณร้อยละ 12 จะถนัดใช้มือคนละข้าง ซึ่งคอนเฟิร์มได้แน่นอนว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตบ้างค่ะ เพราะสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ออกแบบมาสำหรับคนถนัดขวา ลองจินตนาการดูเล่นๆ ว่า ถ้าจับเมาส์คอมพิวเตอร์ด้วยมือซ้าย ก็ดูแปลกหูแปลกตาใช่เล่นไม่เบาค่ะ


เริ่มต้นดีมีชัยกว่าครึ่ง

            ก็มีข้อควรระวังสำหรับการเขียนอยู่อย่างหนึ่งค่ะ คือต้องเริ่มต้นจับดินสอให้ถูกต้อง จัดท่านั่งที่เหมาะสม และเขียนจากทิศทางที่ถูกต้อง เพราะหากเริ่มต้นผิด ก็อาจจะผิดไปจนเติบโตได้ ดังสุภาษิตที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

ที่มา   ::    http://www.wattanasatitschool.com
 
 
 

2 ความคิดเห็น:

  1. ส่งเสริมสมองลูกด้วยการขีดๆ เขียนๆ


    คุณพ่อคุณแม่คงสังเกตว่าเด็กทุกคนชอบขีดๆ เขี่ยๆ และการที่เด็กจับดินสอมาขีดเขี่ย แสดงว่าเด็กเริ่มพัฒนาการทำงานประสานกันของมือกับตาได้ดีแล้ว รวมทั้งการควบคุมมือให้ลากเส้นออกมาเป็นรูปร่าง นอกจากจะเป็นการฝึกระบบประสาทที่ละเอียดอ่อนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาการรับรู้โลกของเด็กอีกด้วย เด็กจะถ่ายทอดการรับรู้สิ่งต่างๆ ออกมาเป็นรูปเป็นร่างเป็นรายละเอียด และหลังจากนั้นก็จะแต่งเติมจินตนาการเข้าไป

    ความสนใจในการขีดเขี่ยนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการวาดรูปและความสนใจสร้างสรรค์งานศิลปะ จะเริ่มปรากฏขึ้นระหว่างอายุ 18 เดือน (ขวบครึ่ง) เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กสนใจในการขีดเขียน การจับดินสอมาขีดๆ เขี่ยๆ เป็นอย่างมาก จึงเป็นช่วงที่เหมาะอย่างยิ่งในการปูพื้นฐานความรักในศิลปะ เพื่อให้เด็กมีความสามารถในงานศิลปะหรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการทางศิลปะ ด้วยการชวนเขาจับดินสอหรือสีเทียนวาดนั่นวาดนี่แล้วชวนพูดคุยถึงสิ่งที่เขาวาด เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ละเลยปล่อยผ่านไปโดยไม่ให้เด็กได้มีโอกาสหัดขีดเขียนหรือหัดวาดในวัยที่เขาต้องการ ก็อาจจะสายเกินไป เพราะการไปเคี่ยวเข็ญให้ลูกฝึกฝนการวาดภาพ ระบายสีเมื่อโตขึ้นจะไม่ได้ผลเหมือนได้ฝึกในช่วงที่เด็กกำลังสนใจอย่างเช่นตอนนี้ค่ะ



    .

    ตอบลบ
  2. ฝึกเขียน...พัฒนาการสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม


    การเขียน ถือ เป็นพัฒนาการสำหรับเด็กวัยอนุบาล การเขียน มีข้อดีคือเป็นการช่วยฝึกล้ามเนื้อมือ แต่เรามักพบว่า เด็กหลายคนถูกบังคับ จับมือเขียน หรือลากเส้นตามรอยประ หน้าตาไม่มีความสุขสักนิด ทั้งที่จริงแล้ว การฝึกเขียน เป็นพัฒนาการที่มีขั้นตอน และมีความสำคัญไม่ต่างจากพัฒนาการด้านอื่นๆ เลย

    ขั้นที่ 1 ขีดเขี่ย (2-3 ขวบ) สะเปะสะปะไร้ทิศทาง จับดินสอได้ก็ขีดเขียนเส้นต่างๆ พันกันมั่วไปหมด โดยที่ตาอาจไม่ได้มองมือ หรือกระดาษ(ที่ตัวเองเขียน)ด้วยซ้ำ





    ขั้นที่ 2 ควบคุมการขีดเขี่ย (3 ขวบ) แม้ร่องรอยขีดเขียนจะไม่ต่างจากขั้นแรก แต่อย่างน้อย เขาก็เริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือตัวเองได้แล้ว และเขียนอย่างมีทิศทางมากขึ้น





    ขั้นที่ 3 เขียนคล้ายตัวอักษร (3-4 ขวบ) หนูจะชอบเขียนตามจุดประ หรือลากเส้นทับคำที่อยากเขียนมาก แต่อย่าหวังว่าจะเห็นหนูเขียนได้สวยนะ เพราะมันบิดๆ เบี้ยวๆ โย้ไปโย้มาเหลือเกิน ฉะนั้นแม่อย่าเอาแต่ซื้อสมุดแบบฝึกหัด ให้หนูคัดเขียนมากเกินไป อย่าลืมว่าความชอบของหนูมันเป็นแค่พัฒนาการช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่อย่างนั้นหนูก็อาจเบื่อ และล้าได้เหมือนกัน





    ขั้นที่ 4 สามารถเขียนชื่อตนเอง ลอกคำต่างๆ ได้ (4 ขวบ) เริ่มเขียนคำที่มีความหมายกับเขาเองได้ เช่น ชื่อตัวเอง หรือประโยคที่ครูเคยเล่าแล้วเขาอยากเขียน (นิทานเรื่องโปรด สถานที่ประทับใจ) พอครูเขียนให้ดู เขาจะพยายามลอกตาม





    ขั้นที่ 5 คิดเขียนคำ (4-5 ขวบ) เมื่อเด็กได้ยินได้ฟังคำอะไรมา เช่น รักแม่ เขาจะนำคำนั้นมาคิดและเขียนลงไป ว่า "รักม่" แม้ไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง





    ขั้นที่ 6 เขียนอย่างถูกต้อง (5-7 ขวบ) เมื่อทุกอย่างพร้อม เมื่อนั้นเขาจะเขียนคำต่างๆได้เองอย่างคล่องแคล่ว และถูกต้องมากขึ้น



    กว่าที่เขาจะพัฒนาได้เป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ ใช่ว่าจะตรงตามอายุเป๊ะๆ เขาอาจพัฒนาเร็ว-ช้าไม่เท่ากัน ขึ้นกับประสบการณ์ที่แต่ละคนสั่งสมมา ซึ่งการฝึกพัฒนาการมีอยู่ในกิจวัตรประจำวันง่ายๆ เช่น การฉีกกระดาษ ตัดกระดาษ ช่วยแม่ตักข้าว คีบน้ำแข็ง เปิด-ปิดขวด หนีบผ้า หยิบไข่ และกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ เล่านิทาน เล่มเกมที่เกี่ยวกับคำ เช่น ท่องคำคล้องจอง สังเกตคำที่เหมือนกันตามป้ายโฆษณาบนท้องถนน



    ทำกิจวัตรเช่นนี้ให้เป็นเรื่องปกติ เมื่อนั้นเด็กจะเขียนได้เอง และเขียนอย่างมีความสุขอีกด้วย


    จาก : นิตยสาร Kidscovery

    ตอบลบ